ตรวจสุขภาพ เพื่อดูแลความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย

ตรวจสุขภาพ

การตรวจสุขภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรทำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นขั้นตอนที่จะช่วยในการวินิจฉัยโรค เพื่อดูแลความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและค้นหาความผิดปกติ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยจะมีทั้งการสอบถามประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วย เช่น ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบันและอดีต วัติการผ่าตัด ประประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ประวัติประจำเดือน การตั้งครรภ์และการมีบุตร และประวัติการใช้ยาต่างๆ รวมถึงประวัติการแพ้ยา แพ้อาหารหรือแพ้สิ่งอื่นๆ และการตรวจร่างกาย หลังจากนั้นแพทย์ก็จะบันทึกไว้ในเวชระเบียนด้วยเช่นกัน เพราะเป็นข้อมูลสำคัญในการรักษาครั้งต่อ ๆ ไป  

เพราะข้อมูลจากการตรวจสุขภาพ นอกจากจะใช้เป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยแล้วยังใช้ช่วย ประเมินวิธีรักษา ติดตามผลการรักษา และประเมินสุขภาพโดยรวม เพื่อการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม ลดปัญหาที่อาจจะนำไปสู่การสูญเสียทั้งทางด้านสุขอนามัย และทางด้านการเงิน

ตรวจสุขภาพ

การเตรียมตัวสำหรับการตรวจสุขภาพ

ก่อนทำการตรวจสุขภาพควรมีการเตรียมตัวให้พร้อม ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ไม่ควรอดนอนเพราะถ้าพักผ่อนไม่เพียงพออาจจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย  ควรทำตัวให้เหมือนปกติไม่ควบคุมตัวเองเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ผลการตรวจที่ถูกต้องและแม่นยำที่สุด เพื่อให้แพทย์ได้ข้อมูลแท้จริงวินิจฉัยได้ถูกต้อง  ข้อควรปฏิบัติอื่นๆสำหรับการตรวจสุขภาพ ดังนี้

1.การตรวจเลือด

มีการตรวจบางตัวต้องงดอาหารและเครื่องดื่ม (ยกเว้นน้ำเปล่า) ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของคืนก่อนวันตรวจ เช่น การตรวจหาน้ำตาลในเลือดและไขมัน 

ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (FBS : Fasting Blood Sugar)  เพื่อประเมินความเสี่ยง และคัดกรองโรคเบาหวาน ถ้ามีประวัติครอบครัวมีคนเป็นยิ่งต้องตรวจ

ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด (Lipid Profile : Cholesterol, Triglyceride, HDL, LDL) เพื่อดูระดับคอเลสเตอรอลไตรกลีเซอไรด์ ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง

2.การตรวจปัสสาวะ

(UA :Urinalysis) ให้เก็บปัสสาวะตอนเช้า โดยล้างมือ-ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ ปัสสาวะทิ้งไปก่อนเล็กน้อยแล้วเก็บปัสสาวะช่วงกลาง เก็บปัสสาวะใส่ภาชนะ ประมาณ ½ กล่อง (ปิดฝาให้สนิท) ช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะเบื้องต้น รวมถึงโรคอื่นๆ ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ

ถ้าอยู่ในช่วงมีประจำเดือนควรให้ประจำเดือนหมดไปก่อนอย่างน้อย 3 วัน หรือถ้าต้องการตรวจกรุณาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบจะได้ระบุอย่างชัดเจนก่อนนำไปตรวจ ผลจะได้ไม่คาดเคลื่อน

3.การตรวจอุจจาระ

เก็บอุจจาระตอนเช้าวันตรวจใส่ภาชนะ ประมาณ ¼ กล่อง (ประมาณหัวแม่มือ)ช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น เช่น ภาวะการอักเสบติดเชื้อในลำไส้ พยาธิ ภาวะเลือดปนในอุจจาระซึ่งอาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ริดสีดวงทวาร มะเร็งทางเดินอาหาร  

4.การเอกซเรย์ปอด

เพื่อดูความผิดปกติในช่องทรวงอก เช่น ขนาดของหัวใจ วัณโรคและโรคต่างๆ ของปอด ผู้หญิง สวมเสื้อที่จัดเตรียมไว้ให้ ถอดสร้อยคอ-เสื้อชั้นใน (ยกทรง) ออก เพื่อป้องกันมิให้ตะขอ หรือโครงเสื้อในบังปอด ตั้งครรภ์งดเอกซเรย์ ผู้ชายถอดเสื้อและสร้อยคอ

5.การตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์ (Physical Examination)

จะมีสอบถามประวัติการเจ็บป่วย ประวัติอาการต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยา พฤติกรรมต่างๆที่เสี่ยงส่งผลต่อสุขภาพ และการตรวจเบื้องต้น เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจหาดัชนีมวลกาย ประกอบกับการตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถแยกโรคได้ในระดับหนึ่ง

6.ตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ (Eye Examination)

ตรวจสุขภาพตาทั่วไป เพื่อค้นหาความเสี่ยงและความผิดปกติของโรคทางตา รวมไปถึงการวัดสายตาด้วย

7.ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC : Complete Blood Count)

หาความผิดปกติของส่วนประกอบของเลือด ได้แก่ ความเข้มข้นของเลือด เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ซึ่งอาจจะบ่งบอกถึงสภาวะผิดปกติ เช่น ภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อ การอักเสบ จำนวนเกล็ดเลือดการแข็งตัวของเลือด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หมู่เลือดทั้งสองชนิด (Blood Group ABO &Rh) ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin Typing) ในกรณีเตรียมตัวตั้งครรภ์หรือ แต่งงาน 

8.ตรวจการทำงานของไต (Kidney Function : BUN,Cr,eGFR)

ดูระดับค่าครีเอตินิน (creatinine) ค่าของเสียที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อ และ ค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) ค่าของเสียจากการย่อยสลายโปรตีน และ eGFR (Estimated glomerular filtration rate) เพื่อประเมินความสามารถในการกรองและขับของเสียของไต

9.ตรวจระดับกรดยูริก (Uric Acid)

เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์ (Gout)

10.ตรวจการทำงานของตับ (Liver Function : SGOT, SGPT, Alk Phos, Bilirubin, Albumin, Globulin,GGT)

เป็นการตรวจความผิดปกติของตับและทางเดินน้ำดี ตับอักเสบ ตับเสื่อมสภาพ ภาวะดีซ่าน โดยตรวจหาเอ็นไซม์และสารต่างๆ ในเลือด 

11.ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)

เป็นการประเมินการทำงานของหัวใจ เพื่อดูความเสี่ยงและความผิดปกติเช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด หรือ เต้นผิดปกติ

12.ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (T3, TSH, Free T4) 

เป็นการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์จากระดับฮอร์โมนในเลือด เพื่อดูความเสี่ยงและความผิดปกติที่อาจจะพบ

13.ตรวจวัดระดับแคลเซียมในเลือด (Calcium)

เป็นการตรวจดูระดับแคลเซียมในเลือด ผลสูงหรือต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ก็เสี่ยงให้เกิดโรคต่างๆ ร่วมด้วย เช่นโรค กระดูกพรุน

14.ตรวจไวรัสตับอักเสบ (HBsAg, HBsAb, Anti HCV, Anti HBc)

โดยไวรัสตับอักเสบบีและซีสามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้น และการตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ

15.ตรวจมะเร็ง การตรวจมะเร็งทางเดินอาหาร (CEA)

มะเร็งตับ (AFP) และ มะเร็งตับอ่อน (CA 19-9)  มะเร็งรังไข่ (CA 125)  และมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) ซึ่งปัจจุบันโรคที่มีสถิติสูงมาก ตรวจคัดกรองได้จะดีมาก

16.ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง (Ultrasound Whole Abdomen)

ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะสำคัญภายในช่องท้องเช่น ตับ ไต ตับอ่อน ม้าม เส้นเลือดใหญ่ภายในช่องท้อง มดลูกและรังไข่ในผู้หญิง และต่อมลูกหมากในผู้ชาย ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ควรงดอาหารและเครื่องดื่มก่อนตรวจ อย่างน้อย 6 ชม. ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง ควรกลั้นปัสสาวะก่อนตรวจ

17.ตรวจมะเร็งเต้านม (Digital Mammogram and Ultrasound)

18 ตรวจมะเร็งปากมดลูก

โดยวิธี ThinPrep/SurePath  และการตรวจภายในของผู้หญิง ควรหลีกเลี่ยงการตรวจในขณะที่มีประจำเดือนและควรงดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนตรวจประมาณ 3 วัน

19.ตรวจโรคทางเพศสัมพันธ์ (VDRL, Anti HIV)

คัดกรองโรคก่อนแต่งงานหรือตั้งครรภ์ก็ดีค่ะ

การตรวจสุขภาพประจำปี

 

การตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อติดตามความเสี่ยง เกิดประโยชน์แก่ผู้ตรวจเป็นอย่างมาก เพราะได้ทำการคัดกรองโรคต่าง ๆ เบื้องต้น เมื่อพบความผิดปกติกามารถแก้ไขได้ทันท่วงที หรือการได้รับการรักษาโรคตั้งแต่เนิ่นๆ พบความเสี่ยงก็สามารถวางแผนการดูแลป้องกัน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ชะลอภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ไตวายในผู้ป่วยเบาหวาน เบาหวานขึ้นจอประสาทตาในผู้ป่วยเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ซึ่งมีโอกาสรักษาให้หายได้ หรือ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 

การตรวจสุขภาพมีความคุ้มค่าอย่างมากเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ ต้องตรวจอะไรบ้าง และ ตรวจบ่อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับ เพศ อายุ สุขภาพ ประวัติครอบครัว และวิถีการดำเนินชีวิต การตรวจนั้นปกติเบื้องต้นจะแบ่ง ตามเพศและอายุ โดยจะแนะนำให้ตรวจทุก 1 ปี แต่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอาจจะบ่อยกว่าได้พร้อมทั้งต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อาจจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและตรวจบ่อยขึ้น

Back To Top