วิธีแก้อาการใจสั่น สุขภาพดี หัวใจแข็งแรง

วิธีแก้อาการใจสั่น

สุขภาพดี หัวใจแข็งแรง เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ได้หันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น แต่ถ้าอยู่ ๆ หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ กระตุก สะดุด อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังมีอาการใจสั่น ซึ่งผลของใจสั่นเป็นได้ตั้งแต่ รู้สึกรำคาญ เหนื่อยง่าย อัมพาต ไปจนถึงเสียชีวิตกะทันหัน เป็นเรื่องอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

ใจสั่น (Palpitation) คือ อาการที่รู้สึกว่าหัวใจเต้นไม่เป็นปกติ การเต้นขาดหายไป เต้นไม่เป็นจังหวะ เต้นไม่สม่ำเสมอ อาจจะเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด ออกกำลังกายหนักเกินไป ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด หรือสาเหตุรุนแรงที่พบได้น้อย เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)

อาการใจสั่น

อาการใจสั่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด เวลาใดซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับสิ่งกระตุ้นหรือภาวะของโรค โดยมีอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่

1.รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วหรือแรงกว่าปกติ

2.รู้สึกว่าหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ

3.หัวใจเต้นผิดจังหวะ

4.หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ

5.รู้สึกว่าการเต้นของหัวใจขาดหายไป

นอกจากมีอาการใจสั่นแล้ว หากมีอาการเหล่านนี้ร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์ เวียนศีรษะ หน้ามืดหรือเป็นลม หายใจตื้น เจ็บหรือแน่นหน้าอก มีอาการหายใจหอบเหนื่อยอย่างรุนแรง

วิธีแก้อาการใจสั่น

สาเหตุของใจสั่น

1.โรคหัวใจหลาย ๆ ชนิด ทำให้เกิดใจสั่นได้จากการที่มีหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เช่น โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหัวใจโต อาการใจสั่นที่เกิดจากหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิดตามตำแหน่งที่เกิดขึ้น คือ

1.1.หัวใจห้องล่างเต้นเร็ว เมื่อหัวใจเต้นเร็วเกินไปจะทำให้มีเวลารับเลือดไม่พอ และถ้าเต้นไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ไม่สามารถบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ โดยเฉพาะสมองไม่เพียงพอ ทำให้เป็นลมหมดสติ สมองตาย และเสียชีวิตเฉียบพลันได้ กลุ่มเสี่ยงของภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว ได้แก่ ผู้ป่วยที่เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หรือผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไหลตาย เป็นต้น

1.2.หัวใจห้องบนเต้นเร็ว ภาวะนี้พบมากในคนสูงอายุ โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคลิ้นหัวใจบางชนิด เป็นต้น ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการและตรวจพบภาวะนี้โดยบังเอิญ สำหรับอาการที่พบได้แก่ ใจสั่น เหนื่อยง่าย เป็นต้น 

2.นอนหลับไม่เพียงพอ

3.ออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมาก

4.รับประทานอาหารปริมาณมากหรือมีรสเผ็ด

5.ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชาและกาแฟ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

6.สูบบุหรี่

8.ความเครียดและความวิตกกังวล

9.ความกลัว ความตื่นเต้น อาการตื่นตระหนก (Panic)  

10.เหตุจากยารักษาโรค ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่น ยาไฮดราลาซีน หรือยาไมนอกซิดิล ยาพ่นรักษาหอบหืดบางชนิดที่มีส่วนประกอบของสารกระตุ้น เช่น ซาลบูทามอล ยาแก้ไอหรือยาแก้หวัด ที่มีส่วนประกอบของยาซูโดเอฟีดรีน ยาแก้แพ้ เช่น เทอร์เฟนาดีน ยาปฏิชีวนะ เช่น คลาริโธรมัยซิน หรือยาอิริโทรมัยซิน ยารักษาภาวะซึมเศร้า เช่น ไซตาโลแพรม ยาต้านเชื้อรา เช่น ไอทราโคนาโซล 

12.ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือสมุนไพรบางชนิด เช่น ใบกระท่อม

13.การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างที่มีประจำเดือน ระหว่างตั้งครรถ์

วัยหมดประจำเดือน

14.ความผิดปกติของระดับเกลือแร่ (Electrolyte) ในร่างกาย ภาวะร่างกายขาดน้ำ

15.ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism)

16.ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycaemia)

17.ภาวะโลหิตจาง (Anaemia)

18.มีไข้สูง ตั้งแต่ 38-41 องศาเซลเซียส

19.ภาวะไวต่ออาหาร อาจมีอาการใจสั่นหลังจากรับประทานอาหารมื้อหนักที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียม หรือรับประทานอาหารที่มีผงชูรส หรือสารไนเตรทผสมอยู่มาก 

การรักษาใจสั่น

การรักษาใจสั่นจะรักษาตามเหตุ โดยส่วนใหญ่หากมีอาการไม่มากก็มักจะหายไปได้เองและแพทย์อาจไม่สามารถหาสาเหตุได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ให้เกิดอาการ เช่น

1.งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน

2.หยุดสูบบุหรี่

3.หยุดใช้ยาที่มีสารกระตุ้นบางชนิด เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

4.พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียดหรือความวิตกกังวล 

5.ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น โยคะและไทชิ 

6.ใช้ยารักษา เช่น เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium Channel Blockers) การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ สามารถลดความถี่และความรุนแรง

7.การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด

8.หยุดใช้ยาที่มีสารกระตุ้นบางชนิด เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด ใบกระท่อม น้ำมันกัญชา 

9.รักษาและแก้ไขภาวะของโรคที่เป็นต้นเหตุ สั่น เช่น ไทรอยด์ อาการไข้ โรควิตกกังวล

10.การใส่เครื่องกระตุ้น หรือกระตุ้นหัวใจ

ภาวะแทรกซ้อนของใจสั่น

ภาวะแทรกซ้อนของใจสั่น

ภาวะแทรกซ้อนของใจสั่นนั้นขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ที่พบบ่อยก็จะมาจากหัวใจ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น มีดังต่อไปนี้

1.เป็นลมหมดสติ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) หรือลิ้นหัวใจมีปัญหา

2.โรคหลอดเลือดในสมอง สามารถเกิดได้จากอาการใจสั่นที่มีสาเหตุจากภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ทำให้เกิดลิ่มเลือดไปปิดกันเส้นเลือดในสมอง 

3.หัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) พบได้น้อย แต่รุนแรงถึงกับชีวิตได้ โดยจะเกิดกับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmias) บางชนิด

4.หัวใจวาย เป็นผลมาจากหัวใจสูบฉีดอย่างไม่มีประสิทธิภาพเป็นเวลานาน เนื่องจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การป้องกันใจสั่น

อาการใจสั่นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ มีทั้งสาเหตุที่สามารถป้องกันได้และสาเหตุที่ป้องกันไม่ได้ ที่ป้องกันไม่ได้ เช่น การป้องกันไม่ให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจพิการแต่กำเนิด ส่วนสาเหตุที่ป้องกันได้ อย่างการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้ใจสั่น เช่น

1.หลีกเลี่ยงความเครียดหรือความกังวล โดยวิธีผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น บำบัดด้วยกลิ่น เล่นโยคะ ฝึกหายใจเข้าลึก ๆ หรือใช้ยารักษา

2.หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ได้แก่ กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง บุหรี่ หรือยาแก้หวัดบางชนิด

3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอและรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

4.พยายามควบคุมระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลให้เป็นปกติ

5.หากใช้ยารักษาโรคแล้วทำให้ใจสั่น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหายาชนิดอื่นทดแทน

6.หมั่นสังเกตตัวเองว่ารับประทานอาหารชนิดใดแล้วทำให้เกิดอาการก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น

7.ห่างไกลจากยาเสพติดให้โทษ เช่น โคเคนและแอมเฟตามีน (Amphetamine)

หากแพทย์พบว่าสาเหตุของใจสั่นมาจากภาวะทางร่างกายหรือโรคประจำตัว แพทย์ก็จะรักษาและแก้ไขภาวะหรือโรคนั้น ๆ ทำให้อาการใจสั่นหายไปได้ ดังนั้นเมื่อเกิดอาการอย่านิ่งนอนใจ เพราะอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ถ้าแก้ไขล่าช้า และควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการใจสั่นโดยเฉพาะสารเสพติดเพราะนอกจากจะอันตรายต่อชีวิตแล้วยังผิดกฎหมายอีกด้วย

Back To Top