อาการแพ้กุ้ง ปัญหาของใครหลาย ๆ คน

อาการแพ้กุ้ง

ความสุขเล็ก ๆ ของใครหลาย ๆ คน คือการได้รับประทานอาหารเลิศรส ล็อบสเตอร์หรือกุ้งมังกร OMG!! น้ำลายหยด  หรือทะเลเผากุ้งเผา กุ้งนั้นมีรสชาติดี แต่ก็ใช่ว่าจะรับประทานได้ทุกคนมีคนกลุ่มหนึ่งที่แพ้กุ้งซะอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนแพ้กุ้งมีเยอะมากเหมือนกัน โดยทั่วไป อาการแพ้อาหารนั้นเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ โดยอาจเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารในทันทีหรือเกิดขึ้นหลังรับประทานไปหลายชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นลมพิษ ผื่นคัน หน้าบวม หรือหายใจติดขัด เป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต 

อาการแพ้กุ้งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดการตอบสนองมากกว่าปกติต่อสารบางอย่างในตัวกุ้ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายจึงทำให้เกิดการกระตุ้นการหลั่งสารเคมีเพื่อมากำจัดสารชนิดนั้น 

ดังนั้นคนที่แพ้กุ้งส่วนใหญ่มักแพ้สารฮีโมไซยานิน ที่อยู่ในกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกราม สารโปรตีนลิพิดไบน์ดิง และโปรตีนแอลฟาแอกตินิน ที่อยู่ในกุ้งกุลาดำหรือกุ้งลาย แต่ในบางรายก็แพ้สารที่มาจากอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงกุ้งได้ สำหรับกรณีนี้จะเกิดอาการแพ้กุ้งเพียงบางครั้ง เพราะการเลี้ยงกุ้งของแต่ละพื้นที่อาจจะใช้อาหารที่ไม่เหมือนกัน 

แพ้กุ้ง

อาการแพ้กุ้งจะแสดงออกมาหลายลักษณะอาจแบ่งได้ ดังนี้

1.ผิวหนัง เห็นได้ชัดที่สุด อย่างลมพิษ ผื่นแดง คัน บวม โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก และคอ

2.ระบบทางเดินหายใจ เนื้อเยื่อบริเวณคอที่บวมส่งผลให้หายใจไม่สะดวก และสารฮิสตามีนที่หลั่งออกมาก็ส่งผลให้มีอาการไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก ทำให้หายใจลำบาก

3.ลำไส้และกระเพาะอาหาร อาการแพ้อาจส่งผลให้ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว และปวดท้อง

4.ระบบประสาท มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หน้ามืด และเป็นลมได้

5.ภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง พบได้น้อยแต่อันตรายถึงชีวิต โดยจะมีอาการหายใจไม่ออก หน้ามืด ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดลดต่ำลง แน่นหน้าอก อวัยวะต่าง ๆ มีอาการบวม ช็อก หมดสติ และเสียชีวิต ได้ อาจขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานด้วย ที่สำคัญควรเรียกรถพยาบาลทันที

อาการแพ้กุ้งที่หลาย ๆ คนในวัยเด็กไม่เคยแพ้แต่มาแพ้ในตอนโต โดยสาเหตุอาจมาจากการสะสมสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้มาตั้งแต่เด็ก และมีการกระตุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงส่งผลให้เกิดอาการแพ้ขึ้นได้ และบางคนอาจจะแพ้กุ้งเพียงบางชนิด ซึ่งก็อาจจะเกิดจากสารภายในตัวกุ้งที่แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการแพ้กุ้ง

คนที่มีอาการแพ้กุ้งต้องหมั่นเช็คอาการของตัวเองให้ดี ๆ ละเลยไม่ได้ว่ามีอาการแพ้กุ้งจริง ๆ ไหม เพราะจะได้แก้ไขได้ถูกต้อง เมื่อเกิดอาการแพ้กุ้งเกิดขึ้นควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1.ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกุ้งจะดีที่สุด แม้ว่าจะมีอาการแพ้เพียงเล็กน้อยก็ตาม เพื่อความปลอดภัยและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดจากอาการแพ้ได้ 

2.เมื่อมีอาการคันเกิดขึ้น สามารถใช้ยาทาแก้คันทาเพื่อบรรเทาอาการได้ เช่น คาลาไมด์

3.รับประทานยาแก้แพ้ เช่น ยาต้านสารฮีสตามีนในร่างกายโดยแบ่งออกเป็น ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มที่ทำให้ง่วงซึม กับกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงซึม การใช้ยาต้านสารฮีสตามีน ควรได้รับการแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเพื่อความปลอดภัย ที่นิยมใช้คือ คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine)

4.หากเริ่มมีอาการหายใจไม่ออก ให้พยายามนั่งหรือนอนในท่าที่สบาย

5.ไม่ละเลยที่จะสังเกตุอาการบ่งชี้เบื้องต้น เช่น คัดจมูก ตาบวม

6.ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

7.ไม่แกะหรือเกาบริเวณผื่นที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง เพื่อไม่ให้เกิดเป็นแผลเป็น

8.เมื่อไปรับประทานอาหารนอกบ้านให้ระมัดระวังและรอบคอบ เนื่องจากอุปกรณ์หรือวัสดุต่าง ๆ ในการทำอาหารอาจมีการปนเปื้อน 

9.อ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงส่วนประกอบที่อาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้

  1. หากภายใน 5-10 นาที อาการไม่ดีขึ้น หรืออาการเป็นมากขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

11.ถ้ามีอาการแพ้ขั้นรุนแรงและมีประวัติเคยแพ้รุนแรงมาก่อน บางรายอาจจะต้องพกยาเอพิเนฟรินติดตัว โดยแพทย์จะทำการสอนวิธีฉีดยาด้วยตนเองให้ เพื่อเป็นการชะลออาการแพ้ไม่ให้เป็นอันตรายถึงชีวิตก่อนที่จะมาพบแพทย์

12.ในกรณีที่แพ้รุนแรงและไม่มียาให้พยายามโทรเรียกรถพยาบาล หรือขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

13.บอกหรือแจ้งคนรอบข้างทราบว่ามีอาการแพ้กุ้ง เพื่อเลี่ยงการรับประทานกุ้งโดยไม่รู้ตัวและเป็นการช่วยกันระมัดระวัง

ภาวะแทรกซ้อนจากการแพ้กุ้ง

ภาวะแทรกซ้อนจากการแพ้กุ้ง

เด็กที่เป็นโรคหอบหืด และกลุ่มที่มีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้มาก จะเกิดอาการแพ้ที่รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)ขึ้นได้ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

1.อาการหายใจลำบาก 

2.มีอาการแน่นหน้าอก 

3.มีอาการคอบวมจนปิดกั้นทางเดินหายใจ 

4.เป็นลมล้มลง เนื่องจากเกิดอาการช็อก (Shock) เพราะความดันโลหิตต่ำ

5.ชีพจรเต้นเร็ว 

จะเห็นได้ว่า การแพ้กุ้งนั่นก็คือ หนึ่งในกลุ่มอาการแพ้อาหาร (Food allergy) มักจะเกิดอาการแพ้ภายในไม่กี่นาทีไปจนถึง 2 ชั่วโมง ส่งผลกับระบบต่าง ๆ ของร่างกายจนสามารถสังเกตุได้จากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นลมพิษ ผื่นคัน หน้าบวม หรือหายใจติดขัด เป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองรุนแรงกว่าปกติของร่างกาย ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยอาการแพ้จะมีตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต 

ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่ากุ้งจำเป็นต้องรู้อาการของตัวเอง ว่าเป็นแบบไหน รุนแรงเฉียบพลัน รับประทานปุ๊บออกอาการปั๊บ และเป็นทุกครั้งที่รับประทานกุ้งหรือไม่ ถ้าใช่ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกุ้งไปตลอดชีวิตเพราะอาการแพ้กุ้งไม่สามารถรักษาให้หายแพ้ได้ แต่ถ้าไม่ได้มีอาการรุนแรง แพ้บ้างไม่แพ้บ้าง ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ให้แน่ใจว่าแพ้กุ้งจริงหรือไม่ และหาทางรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป 

 

Back To Top