เรื่องทุกข์ใจของสาว ๆ ทั่วโลก คงหนีไม่พ้น การปวดประจำเดือนนั่นเอง สาวคนไหนที่ประจำเดือนมาแล้วไม่มีอาการข้างเคียงใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยถือว่าทำบุญมากเยอะ ชีวิตมีแต่ความสงบสุข แต่ที่จริงแล้วยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้สาว ๆ มีความวิตกกังวลอย่างมากถ้ามันเกิดขึ้น นั่นก็คือ การที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งมีหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากฮอร์โมนที่ไม่สมดุล ปกติแล้วผู้หญิงจะมีการตกไข่ประมาณ 28 วัน อาจมาก่อนหรือหลังเล็กน้อย และรอบประจำเดือนจะอยู่ในช่วง 21-35 วันแต่เคลื่อนเข้าหรือออกไม่เกิน 7 วัน ระหว่างนั้นถ้ารอบเดือนมาสม่ำเสมอก้ถือว่าประจำเดือนปกติ
สาเหตุของการที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ
ถ้าโดยปกติแล้วรอบประจำเดือนมาตรงรอบตลอด เเล้วมีการห่างออกไป อาจส่งผลทำให้ระบบฮอร์โมนแปรปรวนได้ ถ้ารอบประจำเดือนห่างนานมากกว่า 3 เดือน แล้วยังไม่มีเลือดออกมา ถือว่าประจำเดือนมาไม่ปกติซึ่งมีสาเหตุและอาการแตกต่างกันออกไป ปัญหาส่วนใหญ่ ได้แก่
1.ระยะเวลาของประจำเดือนยาวเกินไป สั้นเกินไป การที่ระยะเวลาของการมีประจำเดือนนานเกิน 8 วันขึ้นไป เรียกว่า ประจำเดือนมามากผิดปกติ (Menorrhagia) สาเหตุมาจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนและโรคที่เกี่ยวกับมดลูก หรือภาวะที่ปริมาณของเลือดประจำเดือนมีน้อยมากกว่าปกติ (Hypomenorrhea) สิ้นสุดภายใน 2 วัน มีสาเหตุมาจากร่างกายมีฮอร์โมนผู้หญิงน้อย
2.รอบเดือนนานเกินไป สั้นเกินไป การมีประจำเดือนถี่เกินไปอาจทำให้ฮอร์โมนเสียสมดุล การที่รอบเดือนมีระยะเวลาสั้นกว่า 24 วันเรียกว่า ประจำเดือนมาบ่อย (Polymenorrhea) มีสาเหตุมาจากรังไข่ทำงานลดลงหรือเกิดความไม่สมดุลของการหลั่งฮอร์โมน
3.รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ ระยะการหมดประจำเดือน (วัยทอง) รังไข่จะค่อย ๆ เสื่อมลง ตั้งแต่ช่วงอายุประมาณ 35 ปี อาจจะมีรอบเดือนไม่สม่ำเสมอหรือปริมาณประจำเดือนลดลง
4.ความเครียด คือ ความเครียดซึ่งส่งผลกระทบต่อการหลั่งของฮอร์โมน ทำให้ประจำเดือนหรือรอบเดือนมาไม่ปกติ
5.ออกกำลังกายหักโหม ผู้หญิงที่ออกกำลังกายมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะขาดประจำเดือน เนื่องจากร่างกายสูญเสียไขมันมากเกินไป
6.น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่ออดอาหารอาจทำให้ไม่มีสารอาหารไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก
7.พักผ่อนไม่เพียงพอ
8.มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง วัณโรคปอดก็ทำให้ประจำเดือนขาดหายไปได้ โรคของต่อมไธรอยด์ โรคของตับอ่อน และโรคของต่อมหมวกไต
9.การได้รับฮอร์โมนมาก่อนหน้านี้ เช่น การใช้ยาคุมฉุกเฉิน หรือการกินยาคุมต่อเนื่องนาน ๆ ประจำเดือนอาจมาน้อยลงได้ การฉีดยาคุม ก็จะทำให้ไม่มีประจำเดือนได้
10.น้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วน ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก ซึ่งส่งผลต่อรอบเดือน และทำให้ประจำเดือนไม่มา
11.มีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมองหรือแม้แต่เนื้องอกบริเวณใกล้ ๆ ต่อมใต้สมอง ก็อาจเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนขาดได้
12.ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง และ กลุ่มอาการ PCOS (Polycystic ovarian syndrome)
13.การตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุที่คนส่วนใหญ่จะสงสัยเป็นสาเหตุแรก ๆ เมื่อประจำเดือนขาดหายไป ซึ่งหากอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และมีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์อยู่แล้วในช่วงก่อนประจำเดือนขาด ดังนั้นจึงควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อน หากไม่ตั้งครรภ์ ถึงจะไปพิจารณาสาเหตุอื่น ๆ
14.ช่วงให้นมลูก คุณแม่หลายคนที่คลอดลูกแล้ว ประจำเดือนอาจจะยังไม่มา หรือ ประจำเดือนขาดอยู่ เพราะเป็นช่วงหลังคลอด หรือช่วงให้นมลูกอยู่ ซึ่งในช่วงหลังคลอด หรือแม้แต่หลังแท้งลูก ถ้ายังมีน้ำนมอยู่ก็เป็นเรื่องปกติที่ประจำเดือนจะยังไม่มาจนกระทั่งหย่านม
หากประจำเดือนมาไม่ปกติ แต่มีไข่ตกทุกเดือนก็ไม่น่าเป็นกังวล ถ้าหากไม่มีไข่ตกจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่ไข่ไม่ตกเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน ปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ตั้งครรภ์ยาก และเข้าสู่วัยทองหรือประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติได้
ประจำเดือนมาไม่ปกติเสี่ยงมีลูกยาก
การที่ประจำเดือนขาด ๆ หาย ๆ หรือมาไม่ปกติ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้ว่าร่างกายอาจมีไข่ตกบ้างไม่ตกบ้าง หรืออาจไม่มีไข่ตกเลยก็ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ถ้ามีไข่ตกน้อยโอกาสการตั้งครรภ์ก็จะน้อยลงไปด้วย ความสำคัญอยู่ที่ การตกไข่ การที่ประจำเดือนมาปกติหรือไม่ปกตินั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ที่ช่วยบ่บอกถึงการตกไข่นั่นเอง
การรักษาภาวะปรระจำเดือนมาไม่ตรง
การรักษา “ภาวะประจำเดือนขาด” นั้น รักษาได้หลายวิธี โดยต้องหาสาเหตุให้พบว่าเกิดจากอะไรกันแน่ เช่น
1.ผ่อนคลาย ไม่เครียด ความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประจำเดือนขาดได้ ควรพยายามทำร่างกาย และจิตใจให้ผ่อนคลาย อาจจะไปเที่ยว ทำงานน้อยลง ทำจิตใจให้สบาย ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย
2.หมั่นสังเกตร่างกาย เมื่อประจำเดือนเริ่มหายไปจะเพียงเดือนเดียวก็ตาม ควรเริ่มจดบันทึกเพื่อดูว่าประจำเดือนหายไป หรือแค่มาช้ากว่ากำหนด และคอยสังเกตความผิดปกติของร่างกาย เช่น มีอาการปวดท้องผิดปกติ มีขน มีหนวด มีเลือกออกมากกว่าปกติหรือไม่
3.ไม่หักโหมออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายด้วยความเหมาะสม โดยเฉพาะหากเป็นผู้หญิงที่ผอม มีไขมันน้อย อาจจะเน้นการออกกำลังกายที่เน้นการเพิ่มกล้ามเนื้อ แทนการออกกำลังกายที่ออกแรงเยอะ ๆ เพื่อลดไขมัน เช่น โยคะ การเดินแทนการวิ่ง
4.ควบคุมน้ำหนัก ให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ไม่อ้วนไป หรือผอมไป หากรู้ตัวว่าผอมหรือมีสัดส่วนไขมันน้อย ควรรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เน้นอาหารที่เพิ่มไขมันดี หรือหากน้ำหนักตัวมาก อาจจะค่อย ๆ ลดน้ำหนัก แต่ไม่ควรอดอาหาร หรือลดน้ำหนักเร็วเกินไป
5.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และครบ 3 มื้อ อาจจะเน้นอาหารที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม เพิ่มขึ้น
6.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
7.พบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติที่ประจำเดือนหายไป ว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ เพื่อรักษาให้ตรงจุด โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจภายใน อัลตราซาวด์ ตรวจดูระดับฮอร์โมน ฯลฯ
8.กินยาฮอร์โมนเสริม หากเกิดจากสาเหตุ เช่น ผอมเกินไป อ้วนเกินไป แพทย์อาจจ่ายยาฮอร์โมน ซึ่งเป็นตัวยาเดียวกับยาเลื่อนประจำเดือนเมื่อรับประทานยาแล้ว จะทำให้ประจำเดือนมาได้ โดยอาจให้กินยาเป็นประจำในช่วงเดียวกันของทุก ๆ เดือน ประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ
9.กินยาคุมกำเนิด เมื่อตรวจพบโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ แพทย์อาจจ่ายยาคุมกำเนิดแบบเม็ด หรือยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อช่วยรักษาอาการ
10.รักษาอาการป่วยอื่น ๆ หากตรวจพบว่าการขาดหายไปของประจำเดือนเกิดจากความผิดปกติ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง มีมดลูกผิดปกติ ก็รักษา เมื่อรักษาหายแล้ว ประจำเดือนก็จะกลับมาเป็นปกติ
11.พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้หญิงหลาย ๆ ซึ่งบางคนก็อาจจะมองข้าม เพราะส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ค่อยชอบเวลาที่มีประจำเดือน เพราะต้องคอยระวังว่าจะเปรอะเปื้อนไหมไม่ค่อยสะดวกคล่องตัวเลย และมีอาการปวดประจำเดือนที่ทรมาน ดังนั้นบางคนจึงคิดว่าประจำเดือนไม่มาก็ดีเหมือนกัน โดยไม่รู้เลยว่าอาจจะมีการเจ็บป่วยแฝงอยู่อีกมากมาย ดังนั้น หากประจำเดือนมาไม่ตรงรอบหรือมีอาการสงสัยอื่น ๆ เช่น ประจำเดือนมากระปริบกระปรอย ปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติ แนะนำให้พบสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจวินิฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาอย่างถูกวิธี