สมุนไพรลดไขมันในเลือด

สมุนไพรลดไขมันในเลือด

หากร่างกายมีการสะสมคอเลสเตอรอลในปริมาณมากจนเกินความต้องการ จะทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงหรือคอเลสเตอรอลสูงตามมา การควบคุมระดับไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยลดความความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ 

ภาวะไขมันในเลือดสูง หรือภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) คือ ระดับไขมันในเลือดที่มีโคเลสเตอรอล มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับไตรกรีเซอไรด์ มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับ HDL-cholesterol (HDL-C) หรือไขมันดี น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับ LDL-cholesterol (LDL-C) หรือไขมันเลวมากกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 

ในการใช้ยาสมุนไพรในการรักษา ยังจำเป็นต้องอาศัยการควบคุมอาหารร่วมด้วย คือลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ของมันของทอด กะทิ เครื่องในสัตว์ หรือแม้กระทั่งขนมจุกจิก ซึ่งหากร่างกายเรามีการใช้พลังงานน้อยกว่าพลังงานจากอาหารที่ทานเข้าไปส่วนที่เหลิอก็จะเก็บสะสมในรูปไขมัน ให้หมั่นอออกกำลังกายครั้งละ 30-40 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน และสมุนไพรไทยที่มีส่วนช่วยในการลดไขมัน มีดังนี้

สมุนไพรไทยที่มีส่วนช่วยในการลดไขมัน มีดังนี้

ขิง

เป็นสมุนไพรที่ใช้ประโยชน์ด้านอาหารและยาตำรับพื้นบ้านมายาวนาน โดยใช้เฉพาะส่วนที่เป็นเหง้าหรือรากของต้นที่อยู่ใต้ดิน ขิงมักถูกนำมาใช้บรรเทาอาการหรือป้องกันโรคหลากหลาย สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เนื่องจากพบสารประกอบฟีนอลหลายชนิด ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคหัวใจที่เกี่ยวข้องกับระดับคอเลสตอลรอลในเลือดสูง

การรับประทานขิงแคปซูลวันละ 3 กรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 เวลา เป็นเวลา 45 วัน สามารถลดระดับไขมันโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ นอกจากนี้ขิงยังมีป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดได้อีกด้วย

ขิง

กระเทียม

กระเทียม เป็นสมุนไพรที่ใช้อย่างแพร่หลาย มักใช้เพิ่มรสชาติในอาหารหรือรับประทานสด บางส่วนอ้างว่ากระเทียมมีฤทธิ์เป็นยา เพราะประกอบด้วยวิตามิน เกลือแร่ สารต่อต้านอนุมูลอิสระมากมาย โดยเฉพาะสารอัลลิซิน (Allicin) ที่เชื่อกันว่าช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง แก้กลาก เกลื้อน หิด ลด ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันผนังหลอดเลือดหนาและแข็งตัว เพียงทานกระเทียมวันละ 1-2 กลีบ หรือทานในรูปแบบผงกระเทียม 600-900 มิลลิกรัมต่อกรัม เป็นเวลา 2 เดือนขึ้นไป จะมีผลลดไขมันโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ พบว่าหากทานเป็นเวลา 16 สัปดาห์ สามารถลดไขมันโคเลสเตอรอลได้ 12% ลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้ 17%

แต่ต้องระวังถ้าหากรับประทานแบบสดในปริมาณมากอาจทำให้มีกลิ่นตัวหรือกลิ่นปากรุนแรง

กระเจี๊ยบแดง

ส่วนกลีบเลี้ยงของดอกหรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล สามารถช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดน้ำหนัก ลดความดันโลหิต นำไปทำเป็นน้ำกระเจี๊ยบดื่มช่วยให้ร่างกายสดชื่น ลดความเหนียวข้นของเลือด ขับปัสสาวะ ป้องกันต่อมลูกหมากโตให้คุณผู้ชายได้ด้วย

มีสารออกฤทธิ์สำคัญคือ แอนโทไซยานิน ซึ่งพบว่ามีผลลดระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ได้ดีมาก ลดไขมันชนิดร้าย (LDL) ลดโคเลสเตอรอล อีกทั้งยังมีผลช่วยเพิ่มระดับไขมันดี (HDL) โดยให้ดื่มชาชงกระเจี๊ยบวันละ 2 เวลา เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 1 เดือน

ตรีผลา

ตำรับสมุนไพรที่ประกอบขึ้นด้วยผลไม้สามอย่างคือ สมอไทย สมอพิเภกและมะขามป้อม มีผลลดระดับไขมันโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้ โดยดื่มต่อเนื่องอย่างน้อยคืนละ 1 แก้ว จะลดไขมันในเลือดและยังมีส่วนช่วยในการรักษาภาวะไขมันพอกตับอีกด้วย 

ดอกคำฝอย

เมล็ดดอกคำฝอยมีน้ำมันระเหยยาก เรียกว่าน้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย มีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวหลายชนิด มีผลลดระดับโคเลสเตอรอลและไขมันตัวร้าย (LDL) และป้องกันการอุดตันของไขมันในเลือด 

ชาดอกคำฝอยอาจรับประทานในรูปแบบชาชงวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ซอง ตอนเย็นหรือก่อนนอน  มีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในเลือด บำรุงเลือด ขับเหงื่อและเป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย ปัจจุบันนำมาใช้ในการลดความอ้วนด้วยการชงดื่ม  น้ำมันจากเมล็ด รสร้อน แก้อัมพาต แก้ฝี แก้ขัดตามข้อและลดไขมันในเส้นเลือด

กะเพรา

สรรพคุณเด็ดของกะเพราก็คือ ช่วยขับไขมันและน้ำตาล  นอกจากใบกะเพราจะช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้แล้ว ยังมีฤทธิ์ขับไขมัน และน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย และช่วยขับน้ำดีในตับออกมาให้ช่วยย่อยไขมันได้ดีขึ้นด้วย  ดังนั้นการ รับประทานกะเพราช่วยป้องกัน โรคความดันโลหิตสูง  โรคเบาหวาน  โรคหลอดเลือดอุดตัน  โรคหัวใจ  ก็คงไม่ผิดนัก

ชาเขียว

ชาเขียว

เป็นชาที่ผลิตได้จากต้นชาเช่นเดียวกับชาชนิดอื่น แต่กรรมวิธีการผลิตจะใช้ใบชาสดผ่านความร้อนในอุณหภูมิสูงและทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว จึงไม่สูญเสียสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ในระหว่างขั้นตอนการผลิต ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ซึ่งเชื่อว่ามีฤทธิ์ต่อต้านการเกิดโรคของหลอดเลือดหัวใจ ลดระดับคอเลสเตอรอล และช่วยลดความอ้วน

ชาเขียวมีคุณสมบัติช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล พบว่าระดับคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลง แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี  โดยทั่วไปการรับประทานชาเขียวในรูปแบบเครื่องดื่มหรือใช้เป็นส่วนผสมของอาหารค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่สตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรดื่มชาเขียวมากกว่า 2 แก้วต่อวัน เพราะมีความเสี่ยงในการแท้งบุตรหรือผลเสียอื่น ๆ จากคาเฟอีน

หัวหอม

นอกจากนี้ยังพบว่าการรับประทานหอมเล็กหอมใหญ่เป็นประจำ ก็จะมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับไขมันในเลือดได้ โดยกินเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 หัว

แม้ว่าสมุนไพรหลายชนิดเชื่อว่ามีคุณสมบัติช่วยลดระดับไขมันในเลือด สำหรับการรับประทานพืชผักสมุนไพรจากอาหารหรือเครื่องดื่มค่อนข้างปลอดภัยเมื่อรับประทานในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม พฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือการใช้ชีวิตค่อนข้างมีบทบาทสำคัญที่ช่วยลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอลลง ซึ่งแต่ละคนย่อมมีปัจจัยด้านสุขภาพที่แตกต่างกันออกไป เพื่อช่วยจัดการกับระดับคอเลสเตอรอลและความเสี่ยงของสุขภาพได้อย่างเหมาะสม บุคคลบางกลุ่มอาจต้องปรึกษาแพทย์ควบคู่ และต้องออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที และเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายในระหว่างวันให้มากขึ้น พร้อมทั้งรับประทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น โดยเฉพาะกากใยที่ละลายในน้ำจะช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีให้ลดลงได้ เน้นการรับประทานธัญพืช ผัก ผลไม้ ถั่ว

 

Back To Top