การเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปรารรถนา แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็อยากเป็นอะไรที่รักษาหายง่าย ๆ เป็นไม่นาน และไม่ทิ้งร่องรอยไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจ็บป่วยจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสก็ตาม ในช่วงที่อากาศเปลี่ยน เช่น การผลัดเปลี่ยนฤดูจาก ร้อนเป็นฝน จากฝนเป็นหนาว เป็นช่วงที่อากาศแปรปรวนทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต้องทำงานหนักจากการแพร่กระจายของเชื้อโรค ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคที่พบการระบาดได้ตลอดทั้งปี และระบาดมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนน คือ โรคอีสุกอีใส ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย
โรคอีสุกอีใส (Varicella Zoster หรือ Chicken Pox) เป็นโรคจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ใช่โรคที่รุนแรงมากนัก จะหายเองได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ มักจะมีอาการ เช่น มีไข้ต่ำ ไม่สบายตัว คัดจมูก มีผื่นคันที่พัฒนาเป็นตุ่มพอง เจ็บในปาก ในจมูก บางคนไอด้วย เป็นโรคที่บางทียังทิ้งรอยแผลเป็นให้ช้ำใจเล่น ๆ อีกด้วย และในปัจจุบันมีไวรัสโรคอีสุกอีใสสายพันธุ์ใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าเดิม ดังนั้นหากคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสในวัยเด็กไปแล้ว ก็ยังสามารถกลับไปเป็นอีสุกอีใสได้อีกรอบ เพราะเป็นเชื้อไวรัสคนละตัวกัน
การติดต่อ
โรคอีสุกอีใสจะติอต่อกันโดยการสัมผัสเชื้อโรคโดยตรงจากตุ่มน้ำ หรือสัมผัสข้าวของเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ จาน ช้อน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ของผู้เป็นโรคอีสุกอีใส หรืออาจได้รับเชื้อโรคที่ลอยในอากาศจากละอองน้ำลายหรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามก็เป็นได้
อาการของโรคอีสุกอีใส
1.ไข้ต่ำ ๆ
2.ตุ่มเล็ก ๆ ขึ้น และจะขยายใหญ่ขึ้นภายในมีน้ำใส ๆ
3.อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
5.ปวดเมื่อยตามตัว
6.มีแผลในช่องปาก
การรักษาโรคอีสุกอีใส
รูปแบบการรับประทานอาหารมีความสำคัญมากในการดูแลเมื่อเป็นโรคอีสุกอีใส การเลือกอาหารที่ถูกต้อง ก็สามารถช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อ อาหารที่ดีและมีคุณค่าทางอาหาร จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและฟื้นฟูร่างกายหลังจากหายจากโรคได้เร็วขึ้น
1.เป็นโรคอีสุกอีใสผิวต้องการการดูแลบำรุงจากโปรตีนมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องทานเนื้อ นม ไข่ และถั่วต่าง ๆ อันเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ
2.ห้ามรับประทานยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอาการไรย์ คือความผิดปกติของสมองและตับ ทำให้สมองอักเสบและตัวเหลือง ดังนั้น หากมีไข้ขึ้นสูง ให้รับประทานยาพาราเซตามอลแทน ร่วมกับใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ
3.ห้ามปล่อยเล็บยาว เพราะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค หากไปแกะเกาตุ่มอีสุกอีใส ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ต้องหมั่นล้างมือให้สะอาดและตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ
4.ห้ามแกะเกาตุ่มอีสุกอีใส เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อนและอาจทำให้เป็นแผลเป็นได้ หากมีอาการคันมาก ให้แจ้งแพทย์เพื่อพิจารณาให้รับประทานยาคลอเฟนิรามีน ช่วยบรรเทาอาการคันลงได้
5.หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน ในขณะที่กำลังป่วยโรคอีสุกอีใส เพราะโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก และร่างกายยังอ่อนแอ มีบาดแผลอยู่เต็มไปหมด เสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค อื่น ๆ เพิ่ม
6.ไม่ใช้ยาสเตียรอยด์ ยาหม้อ ยาลูกกลอนและยาอื่น ๆ นอกจากยาตามแพทย์สั่ง
7.งดอาหารหมักดอง อาหารหมักดองมักมีกระบวนการผลิตที่ไม่สะอาดหรือเป็นอาหารสุกดิบ ๆ อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อน เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเพิ่ม
8.รับประทานผักและผลไม้ดีต่อคนเป็น อีสุกอีใส อย่างมาก โดยเฉพาะที่มีวิตามินซีสูง เช่น พุทรา ฝรั่ง กีวี บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี พริกหวาน เนื่องจาก วิตามินซีช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้แผลหายเร็วขึ้น แต่ถ้ามีตุ่มพองในปาก อาจต้องหลีกเลี่ยงที่มีวิตามินซีแต่มีความเป็นกรดสูง เช่น สับปะรด ผลไม้ตระกูลส้มหรือซิตรัส (เช่น ส้ม มะนาว) เพราะจะยิ่งทำให้ระคายเคืองในช่องปากได้
9.ชาสมุนไพรและน้ำผักผลไม้ คนเป็นอีสุกอีใส มักมีปัญหาไม่อยากอาหาร จึงควรดื่มชาและน้ำผักผลไม้เป็นประจำ เช่น ชาคาโมมายล์ ชาอบเชย ชากะเพรา ชนิดไม่เติมน้ำตาล น้ำผักผลไม้ก็ควรเป็นชนิดคั้นสด และไม่เติมน้ำตาลเช่นกัน นอกจากจะให้สารอาหาร เพื่อความชุ่มชื้นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ด้วย
10.ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม หรือเติมเกลือในปริมาณมาก เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในช่องปาก จนทำให้อาการเจ็บปวดในช่องปาก และยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คุณเกิดภาวะขาดน้ำ จนอาการของ อีสุกอีใส ยิ่งหนักขึ้นได้ด้วย
11.อาหารมัน หรืออาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เฟรนช์ฟราย ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด เบอร์เกอร์ สามารถทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เกิดจากระคายเคือง ส่งผลให้โรคอีสุกอีใสหายช้ากว่าที่ควรได้
12.การรับประทานอาหารรสเผ็ด ทำให้เกิดอาการแสบร้อนภายในปาก ปวดท้อง และระคายเคือง จนอาการแย่ลงได้
การป้องกันโรคอีสุกอีใส
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เมื่อเกิดการแพร่ระบาด ให้งดเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง และระมัดระวังหากต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่แออัดหรือมีผู้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เพราะโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก
- ล้างมือบ่อย ๆ รักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ เพราะในแต่ละวันอาจต้องสัมผัสสิ่งต่าง ๆ มากมาย ง่ายต่อการสะสมเชื้อโรค ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำและก่อนสัมผัสใบหน้า
- ฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแล้ว โดยจะฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 12-18 เดือน ฉีดสองเข็มโดยเข็มที่สองต้องฉีดห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 3 เดือน หากฉีดตั้งแต่เด็กจะมีภูมิคุ้มกันร่างกายตลอดชีวิต หากฉีดในช่วงอายุ 13 ปีขึ้นไป จะมีภูมิคุ้มกันประมาณ 20 ปี โรคจะลดความรุนแรงลง และยังช่วยลดการเกิดรอยแผลเป็นด้วย
ภาวะแทรกซ้อน
เนื่องจากโรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่หายเองได้ แต่ก็มีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ด้วย ซึ่งเกิดจากโรคแทรกซ้อนนั่นเอง ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะโรคแทรกซ้อนบางอาการอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น
1.ปอดอักเสบ
2.ตับอักเสบ
3.แก้วหูอักเสบ
4.ติดเชื้อในสมอง
5.ไอ หายใจเหนื่อย
6.เจ็บหน้าอก
7.ตาเหลืองตัวเหลือง (ดีซ่าน)
8.ปวดศีรษะมาก ซึมลง
จะเห็นได้ว่าโรคอีสุกอีใส ไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไรหายเองได้ แต่ก็เป็นสาเหตุของการขาดเรียน หรือขาดงาน ก่อให้เกิดความรำคาญจากอาการคัน และตุ่มหนอง หรือเป็นแผลเป็นได้ ดังนั้นเมื่อเป็นโรคอีสุกอีใส การดูแลรักษาร่างกายตัวเองให้แข็งแรง รักษาความสะอาด ไม่ไปแกะเกาตุ่มใส รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นความรุนแรงของโรค ก็จะทำให้ร่างกายเริ่มดีขึ้นในเวลาไม่นาน แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที