“โรคจิต” หลายครั้งที่ถูกใช้เป็นคำด่าทอ ในการกระทำแผลง ๆ แท้จริงแล้วเป็นปัญหาสุขภาพจิต คือ ภาวะอาการทางจิตที่มักมีอาการหลงผิดไปจากความเป็นจริง ประสาทหลอน หูแว่ว เห็นภาพหรือรับรู้ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง อาการโรคจิตหรือวิกลจริตนี้ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายใน เช่น ความผิดปกติทางจิตต่าง ๆ อาการเจ็บป่วยทางร่างกาย และปัจจัยภายนอก เช่น การใช้ยาหรือสารเสพติด อาการบางอย่างอาจจะทำให้ครอบครัวและบุคคลรอบข้างเป็นกังวล แต่หากได้รับการรักษาและการดูแลที่เหมาะสมก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้
โรคจิตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.โรคจิตในระยะสั้น อาจมีอาการในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน
2.โรคจิตเภท Schizophrenia ซึ่งจะมีอาการในระยะเวลาเกิน 6 เดือน
อาการโรคจิต
อาการของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการที่แสดงออกมาหลายแบบ ได้แก่
1.ประสาทหลอน ประสาทรับรู้ทั้ง 5 ผิดไปจากความเป็นจริง เช่น เห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน รู้สึกถึงการสัมผัสทั้งที่ไม่มีใครแตะตัว เป็นต้น
2.หลงผิด มีความเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เช่น หลงผิดคิดว่าตนเองกำลังถูกปองร้าย หลงผิดว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีพลังวิเศษ เป็นต้น
3.มีความคิดสับสนวุ่นวาย รูปแบบกระบวนการคิดไม่เป็นลำดับ ส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ เช่น พูดไม่คิด พูดเร็ว พูดแล้วฟังไม่ได้ศัพท์ จัดเรียงลำดับคำในประโยคไม่ถูกต้อง สื่อสารไม่เข้าใจ เป็นต้น
4.ขาดการตระหนักรู้ ไม่รับรู้ว่าอาการหลงผิดและประสาทหลอนที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความจริง ทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น อาการตื่นตระหนก ตกใจกลัว ทุกข์ทรมาน เป็นต้น
5.ซึมเศร้า เก็บตัว แยกตัวจากเพื่อนและครอบครัว
6.นอนนานกว่าปกติ หรือนอนไม่พอ
7.หวาดระแวง ขี้สงสัย วิตกกังวล กระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ อารมณ์แปรปรวน มีอาการซึมเศร้ามาก หรือดีใจมากผิดปกติ
8.ไม่รักษาความสะอาด ไม่สนใจทำกิจกรรมใด ๆ อย่างที่เคย
9.มีความคิดแปลก ๆ
10.มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้ากว่าปกติ แปลก หรือผิดปกติ
11.มีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย
สาเหตุของโรคจิต
แม้ในทางการแพทย์จะยังไม่มีการระบุสาเหตุที่แน่ชัดของอาการโรคจิตได้ แต่มีความเชื่อมากมายเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยเผชิญภาวะโรคจิต ได้แก่
ปัจจัยภายใน
ความผิดปกติทางสมอง และระดับสารเคมีในสมอง มีผลต่อการรับรู้และความคิดที่ผิดไปจากความเป็นจริง อาจเกิดจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในสมอง นั่นคือสารสื่อประสาทโดปามีน ที่ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการคิดและการรับรู้ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น อาการประสาทหลอน การได้ยินเสียงคนรอบข้างพูดนินทา หรือสั่งให้ทำสิ่งต่างๆ โดยที่ไม่มีเสียงนั้นอยู่จริง อาการคิดไปเองที่มักคิดว่าคนอื่นจะมาคิดร้าย หรืออาการคิดว่าตนเองมีพลังวิเศษ เป็นต้น เรียกว่าโรคจิตทางการแพทย์
ความผิดปกติทางจิต อาจเกิดจากความผิดปกติทางจิตหรือทางบุคลิกภาพ เช่น ป่วยเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) ทำให้มีอาการหลงผิดและประสาทหลอน โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) ที่ทำให้มีอาการซึมเศร้าหรืออารมณ์ดีสุดขีด มีความเครียด ความวิตกกังวลอย่างหนัก หรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง
ความเจ็บป่วยทางร่างกาย เมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง อาจส่งผลให้เกิดอาการโรคจิตได้ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) การติดเชื้อเอชไอวีและกลุ่มอาการเอดส์ มีเนื้องอกในสมอง เป็นต้น
กรรมพันธุ์ บางทฤษฎีเชื่อว่าอาการโรคจิตมีแนวโน้มถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่นได้
ปัจจัยภายนอก
การใช้ยาหรือการได้รับสารเคมีใด ๆ เข้าสู่ร่างกายปริมาณที่เกินพอดี อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการโรคจิตได้ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การเสพยาเสพติดอย่างโคเคน ยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี ยาเค หรือกัญชา แต่ถ้าหากหยุดใช้สารดังกล่าวหลังจากใช้ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการโรคจิตได้เช่นกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในอาการถอนพิษยา และอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาบางชนิดได้ หรืออาจเกิดจากการใช้ยาเกินขนาดได้เช่นกัน
การรักษาโรคจิต
โรคจิตรักษาและบรรเทาอาการได้ โดยปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ ได้ดีขึ้น หรือได้ตามปกติ โดยกระบวนการรักษาหลัก คือ การรักษาด้วยยา และการบำบัดทางจิต
1.การรักษาด้วยยา
อาการโรคจิตมักจะควบคุมอาการด้วยการใช้ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) อาจให้ยาแบบรับประทานหรือแบบฉีดยาซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ฉีดเท่านั้น
ยาต้านอาการทางจิตจะออกฤทธิ์ยับยั้งโดปามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง เป็นการช่วยลดการเกิดอาการประสาทหลอนและอาการหลงผิด ช่วยให้ผู้ป่วยคิดและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจน และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง การดูแลให้ได้รับยาอย่างสม่ำเสมอมีความจำเป็นอย่างยิ่ง บางรายได้รับยาในช่วงสั้น ๆ แต่บางรายอาจต้องใช้ยานี้ไปตลอดชีวิต เนื่องจากภาวะการเจ็บป่วยที่อาจทำให้อาการโรคจิตกำเริบกลับมาได้หากหยุดใช้ยา เช่น ผู้ป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia)
อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลข้างเคียง แพทย์อาจต้องดูแลอาการอย่างใกล้ชิด เช่น ผู้ป่วยโรคลมชัก เพราะอาจส่งผลทำให้การเกิดอาการชักได้ หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ หลอดเลือด และการหมุนเวียนเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วยได้
ส่วนผลข้างเคียงทั่วไป เช่น อาการง่วงซึม ปากแห้ง เวียนหัว ท้องผูก ตัวสั่น ใจสั่น กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข ความต้องการทางเพศลดลง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อกระตุกหรือหดเกร็งจนอาจทำให้เกิดความเจ็บปวด ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ชัดเจน เป็นต้น เมื่อพบอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาให้ทันท่วงที
2.การบำบัดทางจิต
การบำบัดทางจิตอาจช่วยคลายความตึงเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดจากอาการโรคจิต เช่น
การบำบัดด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม เป็นวิธีการดูแลด้วยให้บอกเล่าถึงสิ่งที่กำลังเผชิญจนทำให้เกิดความทุกข์ นักบำบัดจะคอยกระตุ้นให้ทำความเข้าใจถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้พวกเขาผ่อนคลายและหาทางออกจากความทุกข์เหล่านั้นได้ในที่สุด
การบำบัดแบบครอบครัว เป็นวิธีที่ให้ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวได้มาพูดคุยถึงความคิดความรู้สึก และปรึกษาหาทางออกไปด้วยกัน ช่วยทำให้ญาติจัดการกับปัญหาของผู้ป่วยได้ดีขึ้น มีความรู้สึกเครียดน้อยลง โดยขั้นตอนทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การดูแลของนักบำบัดเช่นกัน
การเข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือตนเอง (Self-Help Goups) นักบำบัดจะคอยดูแลสนับสนุนให้ได้พูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ที่เคยเผชิญเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน อาจช่วยส่งเสริมให้เข้าถึงความรู้สึกและเข้าใจสถานการณ์ได้ดี จนเกิดประสิทธิผลที่ดีในการบำบัดรักษาตามมา
ภาวะแทรกซ้อนของโรคจิต
การใช้ยาและการใช้สารเสพติดในทางที่ผิด เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น ลักษณะนี้อาจมีผลทำให้อาการโรคจิตกำเริบและทรุดหนักลง
การทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตาย โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักสวมใส่เสื้อผ้าปกปิดมิดชิดแม้ว่าอากาศจะร้อนมากก็ตาม เพื่อไม่ให้คนอื่นเห็นร่องรอยหรือบาดแผลที่เกิดจากการทำร้ายตนเอง บุคคลใกล้ชิดจึงควรสังเกตอาการของผู้ป่วย หากพบถ้าเห็นสัญญาณของการทำร้ายตนเอง เช่น รอยแผลที่หาสาเหตุไม่ได้ รอยฟกช้ำ รอยไหม้จากการถูกบุหรี่จี้ ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
การป้องกันการเกิดอาการโรคจิต
1.หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดให้โทษทุกชนิด ทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือการใช้ยาเสพติด
2.หลีกเลี่ยงการใช้ยาอย่างผิดจุดประสงค์ หรือเกินปริมาณที่แพทย์กำหนดให้
3.ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้หลั่งสารเคมีในสมองเซโรโทนิน ซึ่งช่วยกระตุ้นอารมณ์ผ่อนคลายต่าง ๆ ทำให้ไม่เครียดและวิตกกังวล
4.เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด และผ่อนคลายทั้งร่างกายแลจิตใจ และไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาที่อาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น การดื่มสุรา หรือการใช้ยาเสพติด
5.บริหารอารมณ์และความคิด มองโลกในแง่ดี ไม่เครียด และคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์
6.หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หากพบความผิดปกติหรือมีข้อสงสัย ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือไปพบแพทย์
โรคจิต เป็นโรคที่ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือของผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิดในการแก้ปัญหา ต้องค่อยหมั่นสังเกตอาการเมื่อพบสัญญาณเตือนให้รีบแก้ไขทันทีอย่างปลอดทิ้งไว้ให้ลุกลามเป็นหนัก เพราะอาจจะถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเองและผู้อื่นได้ ซึ่งเมื่อพบว่าเป็นและรับการรักษาและดูแลอย่างเสม่ำเสมอและเคร่งครัดก็จะสามารถควบคุมอาการของโรคได้และสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ