ท้องอืด ทําไงให้สบายตัว

ท้องอืด ทําไงให้สบายตัว

ปัญหากวนใจใครหลาย ๆ คน ที่แม้ไม่ใช่อาการอันตรายร้ายแรง แต่หากเกิดขึ้นบ่อยหรือเป็นแบบเรื้อรัง ก็ย่อมทำให้เรารู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งปัญหาพบบ่อยและมากเนื่องจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ คือ อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดจุกเสียดแน่นท้อง 

ท้องอืด คือ อาการที่พบได้ทั่วไปกับคนทุกเพศทุกวัย ทำให้รู้สึกไม่สบายท้องหรือแน่นอึดอัดท้อง เกิดจากการมีแก๊สอยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้มากกว่าปกติ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เรอบ่อย ผายลม ปวดท้อง หรือท้องร้องมากกว่าปกติ

สาเหตุของอาการท้องอืด 

อาการท้องอืดมีสาเหตุมากจากการที่แก๊สในระบบทางเดินอาหารมากเกินไป ซึ่งมาจากการรับประทานอาหารแล้วไม่สามารถย่อยได้อย่างเหมาะสมหรือมาจากการกลืนอากาศเข้าไป ทำให้รู้สึกแน่นท้อง ท้องป่อง ลมในท้องเยอะ พฤติกรรมที่ทำให้เกิดท้องอืด ท้องเฟ้อมีอยู่หลายปัจจัย เช่น 

1.ทานอาหารมากและเร็วเกินไป

2.ดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

3.นอนหลังรับประทานอาหาร

4.เคี้ยวหมากฝรั่ง 

5.สูบบุหรี่

6.รับประทานอาหารพร้อมกับคุยไปด้วย

7.ดื่มน้ำจากหลอดดูด

8.สวมฟันปลอมหลวม

9.ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) โรคลำไส้อักเสบ เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative Colitis) หรือโรคโครห์น (Crohn’s Disease) การทำงานของกระเพาะลำไส้ที่ผิดปกติ (Functional Gastrointestinal Disorders: FGIDs) การเคลื่อนไหวหรือการบีบตัวของลำไส้ลดลง

10.ฮอร์โมนแปรปรวน

11.โรคเจียอาร์ไดอาซิส (Giardiasis) หรือโรคท้องร่วงจากเชื้อเจียอาร์ไดอาซิส

12.ภาวะอาหารผ่านเข้าสู่กระเพาะอาหารอย่างรวดเร็ว โรคที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร เช่น โรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa) หรือโรคบูลิเมีย น้ำหนักเพิ่มขึ้น การขาดหรือมีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารมากเกินไป การดูดซึมอาหารที่ผิดปกติ

13.โรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรืออาการแพ้กลูเตนในอาหารที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปัง ภูมิแพ้อาหาร

14.ภาวะน้ำในช่องท้อง จากโรคตับหรือโรคไต

15.เนื้องอกในช่องท้อง

16.ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต เช่น ความเครียด วิตกกังวล และโรคซึมเศร้า

17.ยาบางชนิดที่ทำให้มีแก๊สมาก เช่น ยานาพรอกเซน (Naproxen) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยาแอสไพริน (Aspirin)

18.มีการสะสมของแก๊ส  ความบกพร่องในการระบายลมออกจากร่างกาย  อาการแสบร้อนกลางอก

19.ท้องผูก

สาเหตุของอาหารท้องอืด 

อาการร่วมของอาการท้องอืดที่ควรพบแพทย์

ถ้ามีอาการท้องอืดและมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของโรคที่มีความรุนแรงได้ ควรรีบไปพบแพทย์ 

1.มีอาการไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย

2.ปวดท้องอย่างรุนแรงหรือเป็นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

3.มีอาการอุจจาระปนเลือด หรืออุจจาระสีเข้มมาก

4.ท้องเสีย ท้องร่วง

5.แสบร้อนกลางอก จุกเสียด

6.อาเจียน

7.น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

วิธีแก้ท้องอืด

การแก้อาการท้องอืด สามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การบรรเทาอาการด้วยตัวเอง การรับประทานยา ไปจนถึงการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันจะช่วยได้มาก มีวิธีดังนี้

1.ปรับเปลี่ยนนิสัยการรับประทาน วิธีง่าย ๆ ได้ผลดี คือการเปลี่ยนนิสัยการรับประทาน เช่น  การรับประทานอาหารให้ช้าลงค่อย ๆ เคี้ยว จะช่วยลดการกลืนของอากาศได้ทำให้ไม่เกิดอาการลมในท้องเยอะ และหลีกเลี่ยงการรรับประทานเยอะจนอิ่มเกินไป ลดปริมาณอาหารลงในแต่ละมื้อ  

2.งดอาหารและเครื่องดื่มที่มีแก๊สเยอะ เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของหมักดอง และผักตระกูลกะหล่ำ แต่รับประทานผักและผลไม้ที่มีสรรพคุณที่ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อแทน เช่น สับปะรด และมะละกอสุก ที่มีเอนไซม์ช่วยย่อยโปรตีน จึงช่วยแก้อาการแน่นท้องหลังรับประทานเนื้อสัตว์ ส่วนผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น มะเขือเทศ และกล้วยหอม ก็ช่วยลดอาการบวมน้ำและจุกแน่นในท้องได้ดีเช่นกัน

3.งดชา-กาแฟเย็น แล้วเปลี่ยนมาล้างปากด้วยน้ำมะนาว น้ำขิง หรือชาคาโมมายล์อุ่นๆ แทน เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีสรรพคุณเป็นยาระบาย ช่วยขับลม กระตุ้นระบบย่อยอาหาร แถมยังแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อได้รวดเร็วทันใจอีกด้วย

4.รับประทานโปรไบโอติกส์ โปรไบโอติกส์ (Probiotics) คือจุลินทรีย์ชนิดดีที่อาศัยอยู่ในลำไส้ทำหน้าที่ปรับสมดุลภายในทางเดินอาหาร ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคอื่น ๆ เข้ามา ซึ่งหากทานเป็นประจำก็จะช่วยแก้ปัญหาท้องอืดในระยะยาวได้

5.นวดกดจุดลดแน่นท้อง เป็นศาสตร์การแพทย์โบราณที่สามารถบรรเทาภาวะอาหารไม่ย่อย หรือการดูดซึมผิดปกติได้ 

“จุดจงหว่าน” ที่อยู่กึ่งกลางลำตัวตรงหน้าท้อง เหนือสะดือขึ้นมาประมาณ 4 นิ้ว

“จุดจู๋ซานหลี” ที่อยู่ตรงหน้าแข้งทั้ง 2 ข้าง ใต้สะบ้าหัวเข่าประมาณ 3 นิ้ว 

“จุดเน่ยกวน” ที่อยู่ตรงแขนด้านใน ใต้เส้นข้อมือประมาณ 2 นิ้ว 

การนวดคลึงเบาๆ ที่จุดเหล่านี้เป็นเวลา 3 – 5 นาทีหลังรับประทานอาหาร จะช่วยลดอาการท้องอืดจุกเสียดแน่นท้องได้ ซึ่งเป็นวิธีกดจุดไล่ลมในท้อง นอกจากการนวดกดจุดแล้วการนวดบริเวณท้องอาจมีส่วนช่วยลดอาการท้องอืดได้  ให้นวดวันละ 2 ครั้ง วันละ 15 นาที ติดต่อกัน 3 วัน อาการซึมเศร้า วิตกกังวล ลดลง และช่วยให้อาการท้องอืดมีอาการดีขึ้น 

วิธีแก้ท้องอืด

6.ใช้ยาสมุนไพรแก้ท้องอืด สารสกัดจากตะไคร้และขิง หรือน้ำมันสกัดจากเปปเปอร์มินต์และสเปียร์มินต์ ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดอาการอักเสบระคายเคืองในช่องท้อง ลดการปวดเสียด แน่นท้อง 

สมุนไพรบางชนิดนำมาใช้เป็นส่วนผสมอาหารได้ซึ่งมีสรรพคุณที่ช่วยขับลมและบรรเทาอาการท้องอืดได้ เช่น ขิง สะระแหน่ ชินนาม่อน คาโมไมล์ โหระพา ยี่หร่า กระเทียม จันทน์เทศ ผักชีฝรั่ง และออริกาโน่ หรือทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร เช่น

น้ำมะนาว : กรดมะนาวจะช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้ดีขึ้น 

มะละกอสุก : ในมะละกอมีน้ำย่อยที่ช่วยย่อยอาหารและโปรตีน บรรเทาอาการแน่นท้องได้ 

น้ำขิง : ให้กินขิงสดหรือดื่มน้ำขิงก่อนนอนจะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด

สับปะรด : สับปะรดมีน้ำย่อยที่ช่วยย่อยโปรตีนและล้างไขมันที่เกาะอยู่ในลำไส้ได้

7.หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ไม่ควรนอนทันที ควรขยับร่างกายให้มีการเคลื่อนไหว ลดแน่นท้อง ท้องอืด ให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว

8.ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย หากใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจะทำให้ไปเพิ่มความดันของช่องท้อง ยิ่งทำให้ท้องอืด

9.หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง  เพราะในหมากฝรั่งมีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น ไซลิทอลและซอร์บิทอล ที่มีน้ำตาลฟรุตโตส เป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องอืด 

10.เลือกกินยาแก้ท้องอืดให้ถูกต้อง อีกวิธีแก้ท้องอืดที่หลาย ๆ คนเลือก คือการกินยาแก้ท้องอืด แต่ควรเลือกกินให้ถูกชนิด เช่น ยาขับลม ยาธาตุน้ำแดง ยาธาตุน้ำขาว ยาลดกรด  ยาที่นิยมนำมาใช้บรรเทาอาการท้องอืดได้แก่ ไซเมทิโคน (Simethicone) เป็นยาขับลม ช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด ท้องอืด และแน่นท้อง หรือยาดอมเพอริโดน (Domperidone) ช่วยการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้อาหารและแก๊สเคลื่อนผ่านระบบย่อยอาหาร

11.หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของข้าวสาลีทุกชนิด หากแพ้น้ำตาลแลกโตสก็ควรงดผลิตภัณฑ์จากนม

12.จำกัดอาหารประเภทไขมัน

13.ลดน้ำหนัก สำหรับผู้ที่อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก

14.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะทำให้กลืนอากาศเข้าไปมากกว่าปกติ

15.ตรวจสอบฟันปลอม เพราะหากฟันปลอมที่ใส่อยู่ไม่พอดี อาจทำให้ต้องกลืนอากาศเข้าไปมากเวลารับประทานอาหารและดื่มน้ำ

16.หลีกเลี่ยงความเครียดและความวิตกกังวล

17.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้และช่วยบรรเทาความเครียด

การแก้ท้องอืดด้วยตัวเองเบื้องต้น โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรับประทานอาหารหรือรับประทานยาพื้นฐานสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องอืดบางครั้ง ดังนั้นควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ตรงจุด ว่าสาเหตุของอาการท้องอืดมาจากโรคหรือภาวะใด เพื่อจะได้การรักษาให้ถูกเพราะแต่ละสาเหตุอาจใช้ยาแต่ละชนิดที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโรคและดุลยพินิจของแพทย์

Back To Top