คนยุคปัจจุบันต้องใช้ชีวิตอย่างเรร่งรีบ จึงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายอย่าง ที่บ่อยมากที่สุดน่าจะเกี่ยวกับสุขลักษณะ ปัญหาท้องผูก ถ่ายไม่ออก หรือขับถ่ายไม่สุด เป็นอาการที่พบได้มากขึ้น สาเหตุจากสุขภาพลำไส้ภายในมีจุลินทรีย์ที่ไม่สมดุล จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการรับประทานอาหารน้อยลง เครียดมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาของระบบขับถ่ายได้
หลายทฤษฏีบอกว่า ท้องผูก หมายถึง การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่จริงๆ แล้วอาการท้องผูกไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งหรือความสม่ำเสมอในการขับถ่าย ยังถ่ายได้อย่างสบาย ๆ ไร้กังวล ไม่ต้องเบ่ง อุจจาระนิ่มจับตัวเป็นก้อนดี แม้ 2-3 วันจะถ่ายสักครั้งก็ถือว่าปกติ
แต่เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก หลายครั้งต้องนั่งนานถึงครึ่งชั่วโมงเพื่อเบ่งถ่าย บางครั้งต้องใช้น้ำฉีด ใช้นิ้วล้วงช่วย ถ่ายไม่สุดเหมือนมีอะไรมาอุดกั้นอยู่ ถ่ายออกมาน้อย อุจจาระแข็งมีลักษณะเป็นเม็ด ผิวขรุขระหรือแห้งแตก รู้สึกอึดอัดแน่นท้อง แสดงว่ามีอาการท้องผูกแน่นอน อาการท้องผูกที่ใช้กันทางการแพทย์จะหมายถึง ผู้ที่มีอาการอย่างน้อย 2 ใน 6 อาการต่อไปนี้ คือ
1.ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์
2.เวลาถ่ายอุจจาระต้องเบ่งมากกว่าปกติ
3.อุจจาระเป็นก้อนแข็งกว่าปกติ
4.รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด
5.มีความรู้สึกว่าถ่ายไม่ออกเนื่องจากมีสิ่งอุดกั้นบริเวณทวารหนัก
6.ต้องใช้นิ้วมือช่วยในการถ่ายอุจจาระ โดยถ้ามีอาการนานมากกว่า 3-6 เดือน จะถือว่าเป็นท้องผูกเรื้อรัง
สาเหตุภาวะท้องผูก
เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลัก ๆ ได้แก่
1.การปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกายหรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย กลั้นอุจจาระบ่อย ๆ
2.การเบ่งถ่ายอุจจาระผิดวิธี เกิดจากการทํางานไม่ประสานกันของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเบ่งอุจจาระ มีการออกแรงเบ่งพร้อมกับขมิบหูรูดทวารหนักไปด้วย เมื่อแรงเบ่งมีน้อยกว่าแรงต้านบริเวณหูรูด อุจจาระก็ไม่สามารถจะเคลื่อนออกมาได้
3.การทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ หรือภาวะลำไส้เฉื่อย เป็นการที่ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวน้อยลงทําให้อุจจาระเคลื่อนลงมาช้ากว่าปกติ
4.การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ท้องผูก เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาโรคพวกพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ ยาลดความดันโลหิต ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแคลเซียม หรืออะลูมิเนียม ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน เป็นต้น
5.สาเหตุที่เกิดจากโรคทางกาย ได้แก่ เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง โรคทางระบบประสาทต่างๆ เช่น ได้รับบาดเจ็บหรือมีโรคที่สมองหรือไขสันหลัง โรคพาร์กินสัน เป็นต้น
6.การอุดกั้นของลำไส้ การอุดกั้นของทางเดินอาหารสามารถทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ ได้แก่ มะเร็งหรือเนื้องอกของลำไส้ใหญ่
7.ทวารหนักลำไส้ตีบตันจากสาเหตุต่างๆ ความผิดปกติที่ทวารหนัก เช่น ทวารหนักกลืนกัน ทวารหนักปลิ้น ทวารหนักเป็นกระเปาะยื่นเข้าช่องคลอด รูทวารหนักตีบตัน ปมประสาทบริเวณลำไส้ใหญ่ลดน้อยลงมาแต่กำเนิด
8.สภาวะทางร่างกายที่ส่งผลต่อฮอร์โมน ฮอร์โมนช่วยให้ของเหลวและการทำงานภายในร่างกายเกิดความสมดุล ซึ่งอาจทำให้ฮอร์โมนเสียสมดุลในการทำงาน สามารถนำไปสู่อาการท้องผูกได้ เช่น โรคเบาหวาน การตั้งครรภ์ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือโรคลำไส้แปรปรวน
วิธีรักษาท้องผูก ปวดท้องถ่ายไม่ออก
1.รับประทานอาหารเช้า ตอนเช้าลำไส้ใหญ่ทำงานมากที่สุด อาหารเช้าช่วยให้กระเพาะอาหารขยายตัวแล้วไปกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ทำงานเกิดเป็นความรู้สึกอยากถ่าย
2.หลังรับประทานอาหารเช้าให้รอสัก 30 นาที ระหว่างรออาจเดินไปเดินมาเพื่อช่วยให้ลำไส้ได้ขยับตัว และเมื่อรู้สึกปวดถ่ายให้ถ่ายทันที เพราะความรู้สึกดังกล่าวจะอยู่กับเราแค่สองนาที
3.ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร น้ำจะช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มถ่ายง่าย
4.รับประทานผักผลไม้เป็นประจำ และควรรับประทานพร้อมกากไม่ใช่แบบคั้นน้ำ เพื่อให้ได้รับกากใยอาหารเพียงพอต่อการขับถ่าย
5.เลี่ยงอาหารประเภทไขมัน ไขมันทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง จึงท้องอืดและผูกได้
6.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ วิ่งหรือเดินสัก 20 นาทีต่อวัน เพื่อช่วยบริหารหัวใจและลำไส้ได้เคลื่อนไหวดีขึ้น
7.ความเครียดทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานไม่ปกติ ลำไส้ทำงานได้น้อยลงส่งผลให้ท้องผูก
8.รับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติก โปรไบโอติกคือจุลินทรีย์ตัวดีที่อาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยเศษอาหาร และดูแลการขับถ่าย
9.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพียงแค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์มากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณอุจจาระและกระตุ้นการเคลื่อนตัวภายในลำไส้ใหญ่ให้เร็วขึ้น
10.สำหรับผู้ที่ยังมีปัญหาในช่วงแรก ๆ แพทย์อาจให้ใช้ยาระบายช่วย เมื่อปรับพฤติกรรมได้แล้วจึงหยุดยา การใช้ยาระบาย ใช้ตามแพทย์สั่งและใช้เท่าที่จำเป็น เพราะยาระบายมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็ออกฤทธิ์แตกต่างกันและอาจส่งผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้
11.การฝึกขับถ่ายให้เป็นธรรมชาติ โดยมีหลักการคือ ฝึกหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นหลักแทนการหายใจด้วยปอด และฝึกเบ่งโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง
12.การผ่าตัด การผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ออกเป็นทางเลือกสุดท้ายในการแก้ปัญหาท้องผูกเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งหมดแล้วไม่ได้ผล
13.การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหรือไบโอฟีดแบ็ก เป็นการฝึกควบคุมการทำงานและผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยจะมีการสอดอุปกรณ์เข้าไปทางทวารหนัก
ผลกระทบของภาวะท้องผูก
ท้องผูกส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจ แต่ไม่ค่อยก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ที่พบเจอบ่อย คือ
1.เครียด
2.เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
3.ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ปวดหัว
4.ปวดหลัง และแสบร้อนบริเวณหน้าอก
5.โรคริดสีดวงทวาร หรือแผลปริรอบๆ ทวารหนักจากอุจจาระที่แห้งแข็งครูดหลอดเลือดจนฉีกขาด
6.ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น เป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดตาและหู
7.ไส้เลื่อน ลำไส้อุดตัน ลำไส้อักเสบ
8.กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
9.ถ่ายเป็นมูกเลือด
หากต้องทนทุกข์ทรมานกับระบบขับถ่าย จะเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งแสนลำบากเรียกว่าต้องเบ่งกันจนหน้ามืด อึดอัด ไม่สบายตัว อย่าปล่อยไปโดยไม่แก้ไข หรือแก้ไขอย่างผิดวิธี เพราะท้องผูกอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงกว่าที่คุณคิด การรักษาโรคท้องผูกอย่างถูกวิธีต้องอาศัยการวางแผนระยะยาวต้องใช้ความอดทนและความตั้งใจก็จะสำเร็จ กลับมาขับถ่ายได้ตามปกติ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแน่นอน