ไม่ว่าจะยุคสมัยใดการมีสุขภาพดีและแข็งแรงยังเป็นความต้องการสูงสุดของทุกคน การเจ็บป่วยไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็มีผลกระทบกับการดำเนินชีวิต การทำงานที่ต้องนั่งโต๊ะเป็นส่วนใหญ่ ติดต่อสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต เราจึงพบว่าคนส่วนใหญ่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) ถึงแม้ว่าจะดูไม่ร้ายแรงแต่ก็ต้องได้รับการดูแลรักษา บางรายต้องรับประทานยาควบคู่กับการกายภาพบำบัด กายภาพบำบัดจึงมีบทบาทมากในการดูแลรักษาและการดำเนินชีวิต
กายภาพบำบัด (Physical Therapy) เป็นวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน รักษาบำบัดความบกพร่องของร่างกายหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ ซึ่งเกิดจากภาวะของโรคที่เกิดขึ้นในทุกช่วงของชีวิต และการฟื้นฟูความเสื่อมสภาพความพิการของร่างกาย ด้วยวิธี การดัด การดึง การประคบ การนวด การบริหารร่างกาย หรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใด ทั้งแบบมีอุปกรณ์ และไม่ใช้อุปกรณ์ กายภาพบำบัด จะกระทำโดย นักกายกายภาพบำบัด (Physical therapist หรือ Physiotherapist หรือย่อว่า PT) หรือผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด (Physical Therapy Assistant)
นักกายภาพบำบัด มีความชำนาญในการให้บริการทั้งระบบประสาทและกระดูกกล้ามเนื้อ โดยการตรวจประเมินแต่ละรายเพื่อวิเคราะห์ปัญหา โดยใช้หลักการของการเคลื่อนไหว กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา และทฤษฎีต่าง ๆ ที่ผสมผสาน เพื่อใช้ในการรักษา
เพื่อช่วยให้การบริการมีประสิทธิภาพสูงสุด งานกายภาพบำบัดจึงมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วยแต่ละรายให้มีพัฒนาการของอาการที่ดีขึ้น
การรักษาด้วยเครื่องมือ
1.เครื่องช็อคเวฟ (ShockWave Therapy)
การรักษาด้วยคลื่นกระแทก non-invasive shockwaves ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ใช้ในการรักษาอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ สลายแคลเซียมและทำให้เกิดการไหลเวียนดีขึ้น เหมาะสำหรับการรักษาผู้ที่มีอาการปวด อาการอักเสบเรื้อรัง รักษามานานยังไม่หาย ทำให้อาการปวดลดลง ลดอาการปวดเรื้อรัง
กระบวนการของ shockwave จะมีการเปลี่ยนแปลงแรงดัน ความยาวคลื่นที่สูงและความต่อเนื่อง (ไม่เป็นช่วงๆ) ใช้สำหรับผู้ที่มีอาการปวดไหล่จากกล้ามเนื้อและเส้นอ็นอักเสบเรื้อรัง ข้อศอก ปวดหลังเรื้อรัง ปวดเอ็นร้อยหวาย มีจุดเจ็บหรือปวดบริเวณกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง
2.เครื่องเลเซอร์ (LASER THERAPY)
ลดอาการปวดบวมอักเสบของระบบกล้ามเนื้อ ข้อ กระดูกและเส้นเอ็น เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการบาดเจ็บเคล็ดยอกตามข้อกระดูก เอ็น พังผืด กล้ามเนื้อ ปวดศีรษะไมเกรน ปวดคอ บ่า จากการเสื่อมหรือเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังคอ ปวดไหล่ ไหล่ติด จากการอักเสบหรือการเสื่อม และ สำหรับผู้ที่มีอาการ เอ็นข้อไหล่อักเสบ นิ้วล็อค เข่าเสื่อม เข่าอักเสบ มือเท้าชา อาการปวดบวมอักเสบบริเวณคอ บ่า ไหล่ แขน ข้อศอก มือ หลัง เอว ขา เข่า เท้า หมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท อาการชาจากโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ฯลฯ
3.เครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound therapy)
เป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่นิยมใช้มากที่สุด เป็นการส่งพลังงานกลเข้าสู่เนื้อเยื่อ สามารถใช้ในการรักษาอาการต่างๆ ได้ เช่น ลดปวด ลดการอักเสบและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ คลายการเกร็งตัวของ กล้ามเนื้อ ลดการยึดตรึงของข้อต่อ รักษาอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ และข้อต่อ เอ็นอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต กระตุ้นการไหลเวียนต่อมน้ำเหลือง กระตุ้นการทำงานของเซลล์ให้ได้รับสารอาหารมากขึ้น สร้างความแข็งแรงของเนื้อเยื่อได้
4.เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrotherapy)
เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ให้กระแสไฟฟ้าที่มีความแรงและความถี่ที่เหมาะสม ทำให้เกิดการตอบสนองของเนื้อเยื่อ ใช้กระตุ้นกล้ามเนื้อเพื่อให้เกิดการหดตัว ชะลอการลีบเล็กของกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนและลดบวมจากการหดตัวเป็นจังหวะของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดของกล้ามเนื้อ ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ
5.Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation (TENS)
การใช้ electrode pad แปะที่บริเวณผิวหนังตรงตำแหน่งที่มีความเจ็บปวด แล้วมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าที่มีความถี่ที่เหมาะสมออกมาเป็นการรักษาอาการปวดทั้งชนิดเรื้อรังและเฉียบพลัน
6.การประคบร้อน (Hot pack)
ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ตึง หรือเกร็ง เช่น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือเส้นเอ็น ให้ดีขึ้น ผ่อนคลาย เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนโลหิตบริเวณที่ประคบดีขึ้น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้กล้ามเนื้อและข้อต่อที่ตึงหรือเกร็งคลายตัวลง และยังช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายให้ดีขึ้น
7.การติดเทปสี (Taping)
เป็นเทปยืดหยุ่นสำหรับการรักษา เป็นเทคนิคที่ถูกนำมาใช้ทางการกีฬาทั่วโลก เพื่อรักษาและป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เช่น อาการบาดเจ็บหัวเข่า (รวมถึงอาการปวดกระดูกสะบ้า) บาดเจ็บบริเวณหน้าแข้ง บาดเจ็บที่ไหล่ บาดเจ็บกล้ามเนื้อไหล่ การไหลเวียนของน้ำเหลืองหรือเลือดในบริเวณที่บวมหรืออักเสบดีขึ้น
บริการวิชาการด้านกายภาพบำบัด โดยเผยแพร่ความรู้ให้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนผู้สนใจ ทั้งในด้านการดูแลสุขภาพร่างกาย การป้องกันภาวะโรคต่าง ๆ การฟื้นฟูสุขภาพ เทคนิคการดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว นอกจากนั้นยังสร้างงานวิจัย และสนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อพัฒนาวิชาชีพ ให้เกิดแนวทางในการดูแลรักษาทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ทันสมัยส่งเสริมในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ใช้บริการด้านกายภาพบำบัด
ผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพอื่นๆ เช่น ไคโรแพรคเตอร์ แพทย์ทางด้านการจัดกระดูก ได้มีการใช้การรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยและโปรแกรมการรักษาทางกายภาพบำบัดยังเกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการสาธารณสุขอื่นๆอีกด้วย นักกายภาพบำบัด จะใช้ประวัติทางการรักษา และข้อมูลจากการตรวจร่างกาย ผลจากห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และการศึกษาภาพถ่ายทางรังสี ประกอบการบำบัดรักษาด้วย เป็นต้น เพื่อประกอบการให้การบำบัด ถ้าหากว่าจำเป็น
ประเภทของงานกายภาพบำบัด
กายภาพบำบัดทางระบบกระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ มีปัญหาเกี่ยวกับความไม่สะดวกในการเคลื่อนไหวร่างกาย การอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม การบาดเจ็บจากการทำงาน การออกกำลังกาย อุบัติเหตุ กระดูกหักและได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับกระดูก เอ็น ข้อต่อ กล้ามเนื้อ การเสื่อมต่างๆของระบบนี้
1.กายภาพบำบัดทางระบบประสาท(Neurologic Physical Therapy) เพื่อการฟื้นฟูผู้ป่วยให้กลับมาสามารถใช้งานร่างกายได้มากที่สุดตามพยาธิสภาพด้วยวิธีการเฉพาะด้านโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต (Stroke) กลุ่มอาการความผิดปกติของสมองที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) อาการอื่น ๆ เช่น การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดไขสันสันหลัง , การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดเส้นประสาท , กลุ่มอาการอัมพาตใบหน้า (Bell’s palsy) เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาตทั้งครึ่งท่อน ครึ่งซีก หรือ ทั้งตัว การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบางส่วนจากระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้อใบหน้า ปากเบี้ยว กลืนหรือพูดลำบาก
2.กายภาพบำบัดระบบทางทรวงอก (ปอดและหัวใจ) ผู้ที่มีปัญหาในการหายใจหรือการทำงานของหัวใจ เช่น โรคปอดที่มีเสมหะคั่งค้างหรือเกิดการติดเชื้อ โรคหัวใจ หลอดเลือด และผู้ที่ต้องผ่าตัดไม่ว่าจะก่อนและหลังผ่าตัดหัวใจ หลอดเลือด
3.กายภาพบำบัดด้านกีฬา(Sports Physical Therapy) รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย อาการบาดเจ็บในผู้เล่นกีฬาหรือนักกีฬา โดยใช้หลักการเทคนิคและเครื่องมือที่ได้มาตรฐานให้คำแนะนำวิธีการป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและการส่งเสริมสุขภาพหรือการเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย แนะนำรูปแบบการออกกำลังที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล การออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ วิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องในผู้ป่วย
4.การตรวจประเมินวิเคราะห์โครงสร้างกลุ่มอาการต่างๆที่พบบ่อย เช่น กล้ามเนื้อ/เอ็นอักเสบ(ข้อเท้าแพลง,รองช้ำ,Iliotibial band syndrome,,tennis elbow) , การฟื้นฟูหลังผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า
5.กายภาพบำบัดในเด็ก เด็กพัฒนาการผิดปกติ เด็กพัฒนาการช้า หรือบกพร่องมาแต่กำเนิด รวมทั้งแม่ที่ให้นมบุตรและหลังคลอดบุตร
6.กายภาพบำบัดที่บ้าน (Home Physical Therapy) โดยนักกายภาพวิชาชีพและมีประสบการณ์ สอนญาติและเจ้าตัวทำเองที่บ้าน
7.การเคลื่อนไหวบำบัด (Exercise Classes & movement therapy) ให้บริการบำบัดรักษาด้วยศาสตร์ของการบำบัด (Physical therapy) ผสมผสานการใช้ศาสตร์ของการเคลื่อนไหวบำบัด (Dance/movement therapy)
8.วารีบำบัด นักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ประเมิน วินิจฉัยอาการ และการรักษาดูแลสุขภาพด้วยการเคลื่อนไหวในน้ำ โดยการรักษาอาการต่างๆ ร่วมกับการบำบัดด้วยมือ การขยับข้อต่อ(mobilization) การใช้เครื่องมือต่างๆทางกายภาพบำบัดที่จำเป็น เช่น การลดอาการอักเสบ ปวด บวม ด้วยคลื่นเสียง(ultrasound)
นักกายภาพบำบัด ปฏิบัติงานในหลายลักษณะงาน ผู้ป่วยนอก คลินิค สำนักงาน แผนกผู้ป่วยใน เกี่ยวกับเวชกรรมฟื้นฟู การฟื้นฟูอยู่บ้าน ศูนย์วิจัย โรงเรียน สถานพักฟื้นโรงงานอุตสาหกรรม และ สถานการฝึกสอนนักกีฬา ดูแลการอ่อนแรงจากความเสื่อมด้วยอายุ การบาดเจ็บในนักกีฬา ผู้ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพทางกาย การดูแลป่องกันความเสี่ยงต่างๆทั้งส่วนบุคคล และชุมชน ร่วมกับทีมสุขภาพอื่นๆ
ขอบเขตและหน้าที่การรักษา
1.การตรวจประเมิน วินิจฉัย อาการจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย
2.วางแผนและออกแบบโปรแกรมการรักษา
3.ติดตาม ประเมินผลการรักษาทั้งก่อนและหลังรับการรักษาทางกายภาพบำบัด
4.กำหนดโปรแกรมการรักษา รวมถึงความพร้อม หลักการปฏิบัติตนของผู้รับการรักษาทางกายภาพบำบัด ทั้งนี้อาจรวมไปถึงผู้ป่วยทั้งก่อน-หลัง รับการรักษากับทีมสุขภาพอื่นๆ เช่น ก่อน-หลังคลอด ก่อนและหลังรับการรักษาด้วยการผ่าตัด
5.ฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย เสริมสร้างความแข็งแรง และแนวทางป้องกันการมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ
6.ให้แนวทางการปฏิบัติตน ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่างๆ อันเกิดจากอาการของโรคหรือภาวะที่วินิจฉัยร่วมของการกายภาพบำบัด
7.ปรับท่าทาง หรือกิจกรรม ให้มีความเหมาะสมกับอาการของโรค กิจวัตรประวัน รวมไปถึงแนวทางในการดำเนินไปเพื่อพัฒนาศักยภาพทางสุขภาพทั้งผู้ป่วยและในคนปกติ
8.สอนและสาธิตการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางกายภาพบำบัด
9.ดูแลให้การรักษาผู้มีกล้ามเนื้อฝ่อลีบ แข็ง เกร็ง อัมพฤกษ์ อัมพาต ทุกระดับอาการ บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา/ออกกำลังกาย/การผิดท่าทางของการใช้ชีวิตประจำวัน ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ ภาวะอ่อนแรงกล้ามเนื้อต่างๆ เช่น แขน ขา หลัง และกล้ามเนื้อใบหน้า
การรักษาทางกายภาพบำบัด
การดูแลรักษาผู้ป่วยในแต่ละรายนั้นขึ้นอยู่กับปัญหา ซึ่งนักกายภาพบำบัดได้ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง
1.Manual therapy
การรักษาปรับโครงสร้างของข้อต่อกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมด้วยการใช้มือ ซึ่งต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์สรีระวิทยา ซึ่งมีเทคนิคหลายเทคนิค เช่น
Mobilization : เป็นการขยับข้อต่อรักษาอาการติดขัดหรืออาการเจ็บปวด
Manipulation : เป็นการดัดและขยับข้อต่ออย่างเร็วและแรง เป็นการเคลื่อนไหวสั้น ๆ เพื่อให้ข้อต่อขยับเข้าที่
Muscle energy : เป็นเทคนิคการเกร็งกล้ามเนื้อเบา เพื่อให้ข้อต่อกลับสู่ตำแหน่ง
Mulligan technique : เป็นเทคนิคการขยับข้อต่อ โดยต้องเคลื่อนไหวตามด้วย
Strain and counter strain technique or Position release : เป็นการจัดท่าเพื่อให้กล้ามเนื้ออยู่ในท่าที่สบาย Massage : การนวดกดจุดและผ่อนคลาย
Craniosacral therapy : เป็นเทคนิคที่ผ่อนคลายและลดการตึงของระบบประสาท
Lymphatic drainage : เป็นเทคนิคช่วยลดการไหลเวียนของระบบน้ำเหลือง
Fascial release : เป็นเทคนิคลดการตึงรั้งของพังผืด
2.Exercises การออกกำลังกาย
เป็นวิธีการรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างหนึ่ง พัฒนาความรู้ และนำมาใช้ในการเรียนการสอนทางกายภาพบำบัด ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสม และถูกต้องกับอาการของแต่ละคน ซึ่งจะสามารถทำให้อาการเจ็บปวดทุเลาและดีขึ้นได้
3.Modalities
การใช้เครื่องมือมาช่วยในการรักษา เพื่อกระตุ้นเซลล์ของร่างกาย ส่งเสริมให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมกับการทำงาน
– การใช้คลื่นเสียงในการรักษา (Ultrasound)
– การใช้เครื่องดึงหลัง – ดึงคอ (Traction)
– การใช้ความร้อน – ความเย็นในการรักษา
– การใช้กระแสไฟฟ้าในการรักษา
เมื่อเกิดการเจ็บป่วยที่ต้องการการดูแลรักษาเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติสุขนั้น กายภาพบำบัดมีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก สามารถช่วยให้ผู้ที่มีอาการปวดเล็กน้อยหายไป ปวดมากหรือมีการติดขัดตามข้อต่อต่าง ๆ มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต สามารถกลับเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามเดิม