ปวดไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะที่มีลักษณะเฉพาะตัว คือ มักจะปวดข้างเดียว หรือเริ่มปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มปวดทั้งสองข้าง มีอาการปวดตุ๊บ ๆ เป็นระยะ ๆ แต่ก็มีบางครั้งที่ปวดแบบตื้อ ๆ มีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก มักจะปวดนานหลายชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1 วัน นับว่าเป็นหนึ่งในอาการปวดศีรษะเรื้อรังที่สร้างความทุกข์ทรมานไม่น้อย
ในบางรายอาจมีอาการนำมาก่อน เช่น สายตาพร่ามัว หรือ มองเห็นแสงกะพริบ ๆ อาการปวดนั้นไม่เลือกเวลา หรือปวดศีรษะพร้อมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียนก็ได้ แต่การรักษาที่ดี คือป้องกันไม่ให้อาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบ อาการ ปวดหัวไมเกรน ต่างจากอาการปวดศีรษะธรรมดาตรงที่ว่า อาการปวดศีรษะธรรมดามักจะปวดทั่วทั้งศีรษะ ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดตื้อ ๆ ที่ไม่รุนแรงนัก และมักจะไม่มีอาการอื่น เช่น คลื่นไส้ร่วมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะหายได้เอง
วิธีบรรเทาอาการไมเกรน
วิธีที่ 1 การกดจุด
ไมเกรนแบบไม่มีออร่า (ไม่เห็นแสงวูบวาบ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะเริ่มปวดศีรษะ) การกดจุดตำแหน่ง บริเวณเหนือส้นมือ (มาทางข้อพับ) ประมาณ 3 นิ้ว สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะจากไมเกรนได้ การใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดจุดบริเวณระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ของอีกข้างหนึ่ง โดยกดประมาณข้างละ 5 นาที สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะที่เกิดจากกล้ามเนื้อคอยึดตึงได้อีกด้วย
วิธีที่ 2 สูดดมน้ำมันหอมระเหย
น้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์ ช่วยบรรเทาความเครียด และสามารถลดความรุนแรงของอาการปวดศีรษะไมเกรนในผู้ป่วยบางรายได้
วิธีที่ 3 จิบชาขิง
ช่วงเปลี่ยนฤดูกาลเปลี่ยนก็ส่งผลให้อาการปวดไมเกรนกำเริบ มีสภาพอากาศ ความร้อน แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ฝุ่น ละอองเกสร ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนด้วยเช่นกัน การจิบชาขิง จะช่วยปรับสมดุลในร่างกาย เพราะขิงไม่มีรสร้อนมากจนเกินไป มีความอุ่น ๆ อยู่ในตัว จึงสามารถช่วยปรับระบบการไหลเวียนเลือด แก้ปวดไมเกรน โดยขิงจะสามารถลดอาการปวดไมเกรนได้ถึง 60% ภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากจิบ
การรับประทานขิงนี้สามารถรับประทานได้หลายแบบ ทั้งแบบสด ๆ และแคปซูล มีข้อดีคือไม่มีผลข้างเคียง อีกทั้งยังสามารถลดอาการอักเสบ ลดอาการปวดเมื่อยในร่างกาย แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะซึ่งเป็นอาการนำก่อนที่จะมีอาการปวดไมเกรน และสามารถช่วยปรับสมดุลในร่างกายได้ในระดับหนึ่ง
วิธีชงขิงเพื่อดื่ม ปริมาณ 10 กรัม กับน้ำร้อน หรือกินชนิดแคปซูลขนาด 250 มิลลิกรัม เช้า เย็นหรือก่อนนอน หรือเมื่อมีอาการ
วิธีที่ 4 เล่นโยคะ
การเล่นโยคะช่วยผ่อนคลายความเครียด ความเครียดของกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถบรรเทาอาการปวดไมเกรน
วิธีที่ 5 เสริมด้วย “แมกนีเซียม”
เพราะภาวะขาดแมกนีเซียมมีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการปวดไมเกรนแบบมีออร่า หรือแสงวูบวาบที่เป็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะเริ่มปวดศีรษะ การเสริมแมกนีเซียมช่วยลดความถี่ของการเกิดไมเกรน
วิธีที่ 6 เปลี่ยนรูปแบบการตื่นและการนอน
การนอนหลับสนิท ทั้งในช่วงเวลาสั้นๆ และการนอนหลับเป็นเวลานานโดยไม่มีสิ่งแวดล้อมภายนอกมารบกวน นั้นบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้ อาจจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการนอน ใช้ผ้าปิดตาหรือคูลเจลปิดตาก่อนนอน ฝึกโยคะท่าง่าย ๆ เปิดเพลงฟังเบา ๆก่อนนอน และนอนแช่น้ำอุ่น พร้อมกับจิบชาที่ไม่มีคาเฟอีน
การนอนหลับสนิทในช่วงเวลากลางคืนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงอาการปวดศีรษะได้ ให้มีรูปแบบที่แน่นอนเป็นประจำทุกวัน ควรปรับเปลี่ยนเวลาตื่นและเข้านอน ได้ดังต่อไปนี้ เข้านอน เวลา 23.00 น. ตื่นนอน เวลา 06.00 น.กินอาหารเช้า เวลา 07.00 น.
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้านอนดึก ไม่ควรเข้านอนหลังจากเวลา 01.00 น. ไปแล้ว และไม่ควรตื่นหลังเวลาบ่าย เพราะจะทำให้อาการปวดไมเกรนกำเริบขึ้นได้
วิธีที่ 7 ออกกำลังกาย ลดความเครียด
ความเครียดเป็นสาเหตุการกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ และถ้าเรื้องรังก็สามารถทำให้เกิดโรคไมเกรนได้ สำหรับวิธีง่าย ๆ ที่สามารถช่วยให้ลดความเครียดได้ คือ การออกกำลังกายประเภทแอโรบิก เพราะขณะที่เราออกกำลังกายนั้นจะมีการหลั่งสารเอนโดฟินออกมา โดยจะเข้าไปช่วยในกระบวนการจัดการความปวด รักษาอาการปวดไมเกรนได้
วิธีที่ 8 หลีกเลี่ยงอาหารหรือสารปรุงแต่ง
มีอาหารและสารปรุงแต่งในอาหารหลายชนิดที่มีผลทำให้เป็นโรคไมเกรน หรือเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการไมเกรนกำเริบได้ โดยจะไปกระตุ้นสารเคมีในร่างกาย ส่งผลให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง กลายเป็นตัวการทำให้อาการปวดศีรษะกำเริบได้ แบ่งได้ดังต่อไปนี้
สารปรุงแต่งในอาหาร ผงชูรส หรือ โมโนโซเดียม กลูตาเมท อาหารแทบทุกชนิดมักจะมีการเติมผงชูรสเข้าไปเพื่อเพิ่มความอร่อยในอาหาร สารโมโนโซเดียม กลูตาเมท ทำให้สารสื่อประสาทซีโรโทนินในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และเป็นโรคอ้วน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดจึงมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะนั่นเอง ควรเลือกใช้ ผงนัว ผักเชียงดา ผักหวาน แทน
สีเติมแต่งอาหาร เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรนมากกว่าการเติมรสชาติด้วยซ้ำ เช่น สาร FD&C yellow #5 หรือเรียกว่า ทาร์ทราซีน ดาย เป็นสีสังเคราะห์ให้สีเหลืองมะนาว สามารถพบได้ในเครื่องดื่ม และลูกกวาด ให้ใช้สีธรรมชาติที่ให้สีเลือง เช่น ขมิ้น อ้อย ดอกโสน ฟักทอง ดอกคำฝอย และดอกกรรณิการ์ แทน
น้ำตาลและสารให้ความหวาน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เป็นตัวกระตุ้นให้อาการไมเกรนกำเริบ และภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือไฮโปไกลซีเมีย ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการไมเกรนได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเด็ก วัยรุ่น และคนทั่วไป ไม่ควรรับประทานน้ำตาล (หมายถึงน้ำตาลที่เติมเพิ่มในอาหาร) เกินร้อยละ 5 ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน หรือเท่ากับ วันละ 6 ช้อนชา หรือ 25 กรัม
แอสปาร์แตม คือ สารเคมีที่ให้ความหวานมักเจือแต่งเข้าไปในอาหาร เกิดจากการรวมตัวกันของกรดอะมิโน 2 ชนิด คือ แอสปาร์ติค และฟีนิลอะลานีน สารแอสปาร์แตมทำให้ระดับของสารสื่อประสาทเซโรโทนินลดลง การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน ควรเลือกรับประทาน หญ้าหวาน ชะเอมเทศ
ช็อกโกแลต มีสารฟีนิลเอททิลเอมีน และสารฮิสตามีน ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการเกิดอาการไมเกรน ใช้สารธรรมชาติ เช่น แครอบ พืชตระกูลถั่ว มีรสชาติคล้ายโกโก้ แต่ไม่มีคาเฟอีน และไม่มีสารฟีนิลเอททิลเอมีน และยังอุดมด้วยสารแอนติออกซแดนท์ วิตามินเอ บี และดี และแคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม แทน
ผักและผลไม้ มีสารธรรมชาติบางชนิดที่ส่งผลกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้ เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม ที่มีสารไทรามีน กล้วยหอม มีสารฮิสตามีน และไทรามีน
ดอกแค ดอกแคก็เป็นสมุนไพรใกล้ตัวนำดอกแค 5-10 ดอกมาต้มทานกับน้ำพริก สามารถช่วยลดอาการปวดไมเกรนได้
กระเทียม สามารถกินสดๆ หรือจะกินกับน้ำพริกก็ได้ เป็นสมุนไพรที่บ้านไหนก็ต้องมีติดบ้านไว้อยู่แล้ว ซึ่งกระเทียมก็สามารถช่วยลดอาการได้เช่นกัน
ใบบัวบก นำใบบัวบกหนึ่งกำมือมาล้างให้สะอาดแล้วนำไปต้มเพื่อที่จะเอาน้ำของมันมากิน ดื่มเช้า เย็น เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก็จะเห็นผล หรือจะกินแบบสดๆ ก็ได้
วิธีที่ 9 วิตามินและอาหารเสริม
วิตามินและอาหารเสริมหลายชนิด ช่วยรักษาอาการปวดไมเกรน ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีคุณประโยชน์มากมาย แนะนำวิตามินและอาหารเสริมที่ช่วยรักษาอาการปวดไมเกรน ไว้ดังนี้
วิตามินบี 2 ช่วยในการสร้างเซลล์ของหลอดเลือดและเพิ่มพลังสำรองในเซลล์สมอง พบใน นม ไข่ ผักสีเขียวเข้ม ซีเรียลต่าง ๆ
วิตามินบี 3 ช่วยลดการหดตัวของหลอดเลือดและเพิ่มพลังสำรองในเซลล์สมอง พบใน บรอกโคลี มะเขือเทศ เห็ด มันฝรั่ง แครอต อัลมอนด์
แมกนีเซียม ช่วยรักษาระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินในร่างกาย ซึ่งปกติแล้วร่างกายจะต้องการแมกนีเซียม 500-600 มิลลิกรัมต่อวัน จะพบแมกนีเซียมมากใน อัลมอนด์ ถั่วลิสง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวสาลี ปลาทะเล แซลมอน ซ์ดีน ทูน่า รวมทั้งน้ำมันปลา เป็นส่วนช่วยให้หลอดเลือดยืดหยุ่น และช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของอาการปวดไมเกรนได้
โคเอนไซม์คิว 10 เป็นสารแอนติออกซิแดนท์ ช่วยในการทำงานของเซลล์ พบใน ปลาทะเลน้ำลึก ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง
ดอกฟีเวอร์ฟิว (Feverfew) ยับยั้งการขยายตัวของหลอดเลือดเล็ก ๆ ในสมอง
ผักบัตเตอร์เบอร์ (Butterbur) ต้านการอักเสบ และต้านฮิสตามีน ต้นเหตุของการปวดไมเกรน
อาหารต้องห้ามเมื่อเป็นไมเกรน
อาหารบางประเภทเป็นสิ่งต้องห้ามเมื่อมีอาการปวดไมเกรน เพราะอาหารแต่ละประเภทต่างมีสารที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เราปวดมากขึ้น
1.ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง
2.คาแฟอีน กาแฟ ชา งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดโดยเฉพาะไวน์แดง
3.ช็อกโกแลตหรือโกโก้ เนยแข็ง
4.ผงชูรส น้ำตาลเทียม
5.กระหล่ำปลีดอง
การปวดศรีษะแบบไมเกรน สามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น แต่ถ้ามีอาการเกิดขึ้นให้รีบแก้ไขทันที ซึ่งมีทั้งวิธีธรรมชาติและยา แต่การรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิด เมื่อมีอาการนำรีบแก้ไขทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะการปวดศรีษะไมเกรนสร้างความทุกข์ทรมานไม่น้อยเพราะมักจะปวดนานหลายชั่วโมง