ฝากครรภ์ ดูแลครรภ์ให้มีสุขภาพที่ดี

ฝากครรภ์

จุดเริ่มต้นของการมีครอบครัวที่เราคุ้นตาก็คงหนีไม่พ้นการแต่งงาน  คือการเริ่มใช้ชีวิตร่วมกับใครอีกคน หลังจากก็จะเริ่มมีการวางแผนครอบครัวการมีทายาทเกิดขึ้นเพื่อให้ครอบครัวสมบูรณ์  เมื่อมีการตั้งครรภ์ก็ต้องฝากครรภ์ สำหรับว่าที่คุณแม่มือใหม่ที่รู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ อย่ามัวดีใจจนลืมไปว่าต้องไปฝากครรภ์

การฝากครรภ์เป็นการดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด ซึ่งถือว่าสำคัญมากเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าท้องแรก ท้องที่ 2 หรือ 3 ก็ควรต้องฝากครรภ์ทั้งสิ้น เพราะจะได้ดูแลให้สุขภาพของแม่และทารกในครรภ์แข็งแรง ทั้งทางด้านร่างกายและทางจิตใจ และจะได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ด้วย เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคธาลัสซีเมีย และดาวน์ซินโดรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นการตรวจหาโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อให้สามารถหาแนวทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที  และปลอดภัยตลอดการตั้งครรภ์ 

การฝากครรภ์ยังเป็นการติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์อีกด้วยว่ามีการเจริญเติบโตตามปกติหรือไม่ ถ้ามาฝากครรภ์และเข้าพบแพทย์ตามที่นัดหมายไว้อย่างสม่ำเสมอ และได้รับคำแนะนำจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญสำหรับการดูแลตนเองและทารกในครรภ์อย่างถูกวิธี เพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง รู้ข้อจำกัดในการทำกิจกรรมในแต่ละช่วงของอายุครรภ์

การเตรียมตัวไปฝากครรภ์

การเตรียมตัวไปฝากครรภ์

คุณแม่ควรเข้ารับการฝากครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก คือ ก่อนอายุครรภ์ครบ 12 สัปดาห์ หรือให้เร็วที่สุดตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ซึ่งการฝากครรภ์สำหรับคุณแม่ป้ายแดง คงมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะคำถามที่ว่าควรไปฝากครรภ์ที่ไหนดี ซึ่งจะมีสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากคนใกล้ชิดที่เคยมีประสบการณ์การตั้งครรภ์มาก่อน แล้วนำมาพิจารณาตามความเหมาะสม และความสะดวก ได้ดังนี้

1.เลือกสถานที่ใกล้และสะดวกที่สุด เพื่อความสะดวกในการเดินทางเวลามีเหตุฉุกเฉิน สำหรับคุณแม่ที่มีประวัติการรักษาโรคมาก่อน เช่น โรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง การเลือกฝากครรภ์กับโรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษาอยู่ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะมีทั้งประวัติการรักษาและประวัติการใช้ยา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดูแลขณะตั้งครรภ์และการวางแผนดูแลระหว่างคลอดด้วย

 2.ฝากครรภ์กับแพทย์ที่ไว้ใจ โดยพิจารณาจาก ประสบการณ์ของแพทย์ ประวัติการทำงาน

3.เลือกตามงบประมาณและความต้องการความสะดวกสบายไม่ว่าจะรพ.รัฐ หรือ รพ.เอกชน

4.สิ่งที่ต้องเตรียมเมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก บัตรประชาชนของคุณแม่ และคุณพ่อ

ขั้นตอนการฝากครรภ์

 เมื่อเราไปฝากครรภ์ครั้งแรก็จะเริ่มจากการซักประวัติและมีการตรวจร่างกาย สุขภาพครรภ์ ดังนี้

1.การซักประวัติผู้ป่วย ได้แก่ วันที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด การใช้ยาหรืออาหารเสริม ประวัติการป่วยของสมาชิกภายในครอบครัว โรคทางอายุรกรรม เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่หรือไม่

2.ตรวจร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ทุกระบบเพื่อค้นหาความผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้นจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที

3.ตรวจปัสสาวะ สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อไปฝากครรภ์ ก็คือการตรวจปัสสาวะ เพื่อจะดูว่ามีน้ำตาลหรือโปรตีนอยู่ในปัสสาวะหรือไม่ ถ้ามีจะบ่งว่าไตทำงานไม่ปกติ และถ้าตรวจพบในช่วงหลังของครรภ์ร่วมกับมีความดันโลหิตสูง แสดงว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะมีอาการครรภ์เป็นพิษ

4.ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เป็นการบอกคร่าว ๆ ถึงขนาดเชิงกราน ซึ่งจะเกี่ยวกับการคลอด ถ้าคุณแม่ตัวเล็ก ก็อาจทำให้คลอดยากได้ ถ้าไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของลูก การชั่งน้ำหนักทุกครั้งเมื่อมาฝากครรภ์ เพื่อดูว่าน้ำหนักของทารกในครรภ์ว่าเพิ่มตามเกณฑ์หรือไม่

5.วัดความดันโลหิต จะมีการวัดความดันโลหิตทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ ค่าความดันปกติจะราว 120/70 มิลลิเมตรปรอท และหากวัดค่าได้เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง

6.ตรวจเลือด เมื่อไปฝากครรภ์ เพื่อนำไปตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ส่วนประกอบของเลือด กรุ๊ปเลือดโรคเลือดธาลัสซีเมีย และตรวจหาโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน และเอดส์ ซึ่งจะให้ดีควรตรวจทั้งคุณพ่อและคุณแม่

7.ตรวจทางหน้าท้อง หรือ อัลตราซาวด์ การฝากครรภ์จะมีการตรวจหน้าท้องเพื่อดูท่าของทารกว่าอยู่ท่าใด ส่วนนำเป็นศีรษะหรือไม่ ประมาณขนาดและน้ำหนักของทารกในครรภ์ เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าทารกแข็งแรงและอยู่ในท่าที่ปลอดภัย

 8.รับวิตามินและยาบำรุงร่างกาย ใบนัดตรวจครั้งต่อไป โดยแพทย์แบ่งเป็น 3 ไตรมาส ซึ่งจะมีการตรวจที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

ขั้นตอนการฝากครรภ์

ช่วงไตรมาสที่ 1 (เริ่มตั้งครรภ์ถึง 14 สัปดาห์)

1.แพทย์จะนัดตรวจทุก 1 เดือน 

2.ตรวจปัสสาวะหรือเลือกเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์

3.ตรวจคัดกรองการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดหรือกระเพราะปัสสาวะ

4.ตรวจเลือดสำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 1 เอดส์ กามโรค ตับอักเสบบี/ซี หมู่เลือด และคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย ทั้งคุณพ่อ และคุณแม่

5.ตรวจเลือดคุณพ่อและคุณแม่ เพื่อคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือตรวจเลือดวัดสารเคมีบ่งชี้ทารกดาวน์ซินโดรม

6.ตรวจอัลตราซาวด์เพื่อกำหนดอายุครรภ์ และคัดกรองความผิดปกติของทารกเบื้องต้น

ไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 15-28 สัปดาห์)

1.แพทย์จะนัดตรวจทุก 1 เดือน 

2.ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และ โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมอื่น ๆ 

3.เจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ (กรณีมีความเสี่ยง)

4.ตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูเพศของทารก และดูพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

ไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 29-42 สัปดาห์)

1.แพทย์จะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ โดยมีการตรวจดังนี้

2.สอนนับลูกดิ้น

3.ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และบาดทะยัก

4.ตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ  (เอดส์ กามโรค ตับอักเสบบี/ซี และความเข้มข้นของเลือด)

5.ตรวจอัลตราซาวด์เพื่อคำนวนน้ำหนักตัวและตรวจสุขภาพทารกในครรภ์

ทั้งนี้การตรวจครรภ์ในระยะสัปดาห์ท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ จะตรวจดูเพื่อให้แน่ใจว่าศีรษะของทารกลงสู่อุ้งเชิงกรานของแม่แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อทารกและคุณแม่เอง 

สมุดฝากครรภ์

ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์คุณหมอจะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายของคุณแม่อย่างละเอียด และบันทึกลงในสมุดฝากครรภ์ หรือใบฝากครรภ์ที่เสมือนบัตรประจำตัว ที่ควรนำบัตรนี้ติดตัวไปด้วยเสมอไม่ว่าจะทำกิจกรรมใด ๆ แม้กระทั่งต้องเดินทางไกล ๆ เพราะถ้าหากเกิดภาวะฉุกเฉินจนต้องเข้าโรงพยาบาล ก็จะได้ดูแลรักษาได้ถูกต้อง เหมาะสมตามอายุครรภ์และภาวะแทรกซ้อนจำเพาะราย ตามข้อมูลที่บันทึกไว้

ประโยชน์ของการฝากครรภ์

ประโยชน์ของการฝากครรภ์

1.เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่ แพทย์จะให้คำแนะนำและตอบคำถามพร้อมทั้งให้คำแนะนำข้อควรปฏิบัติในระหว่างการตั้งครรภ์ ทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การปฏิบัติตน และอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นปัญหา ทำให้คุณแม่สามารถสอบถามและให้แพทย์ตรวจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ได้ตั้งแต่เริ่มต้น 

2.เพื่อตรวจสอบดูว่าการตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างปกติหรือไม่ แพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคบางอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายคุกคามต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ โรคโลหิตจาง ซิฟิลิส ติดเชื้อเอดส์ ฯลฯ และตรวจดูว่าท่านอนของทารกในครรภ์ผิดปกติหรือไม่ ถ้าผิดปกติจะได้แก้ไขได้ทัน 3.ป้องกันหรือลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์  เพื่อให้การตั้งครรภ์และคลอดได้เป็นปกติ ถ้ามีโรคแทรกซ้อนก็จะช่วยให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด ติดเชื้อน้อยที่สุด หรือเสียเลือดน้อยที่สุด เป็นต้น

3.ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์  เพราะการฝากครรภ์นั้นสามารถช่วยลดอัตราการแท้งบุตร การคลอดทารกก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือคลอดทารกแล้วเสียชีวิต และยังช่วยป้องกันการอักเสบติดเชื้อในทารกในครรภ์ได้อีกด้วย

4.ช่วยดูแลทารกในครรภ์  ทำให้เติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

การฝากครรภ์มีความสำคัญต่อชีวิตของคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน เพราะทารกในครรภ์เป็นทั้งความรักความหวังของคนทั้งครอบครัว เพราะฉะนั้นควรฝากครรภ์ตั้งแต่ที่รู้ว่าตั้งครรภ์จะส่งผลดีที่สุด การฝากครรภ์จะทำให้รู้ว่าควรดูแลตนเองและทารกในครรภ์อย่างไร ให้มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยทั้งแม่และลูก เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้การตั้งครรภ์ปลอดภัย เมื่อมีปัญหาฉุกเฉินควรปฏิบัติตัวอย่างไรและไปที่ไหน สมุดฝากครรภ์ต้องพกติดตัวตลอดเพราะข้อมูลทุกอย่างจะถูกบันทึกไว้ในนั้นทั้งหมดทำให้สามารถดูแลรักษาได้ต่อเนื่องและถูกต้อง ปลอดภัย 

การฝากครรภ์และไปตรวจตามนัดตรงเวลาทุกครั้งจะทำให้คุณแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ และคลอดได้อย่างปลอดภัย เพราะมีการวางแผนการดูแลรักษาร่วมกันตั้งแต่ต้นจนถึงการวางแผนการคลอด 

 

Back To Top