ยาลดน้ำมูก ลดการบวมขยายของเส้นเลือดในจมูก

ยาลดน้ำมูก ลดการบวมขยายของเส้นเลือดในจมูก

สุขภาพดีไม่มีขายอยากได้ต้องทำเอง การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะถ้าร่างกายอ่อนเพลีย อากาศเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยอาจจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ เช่น  ไข้  หวัด น้ำมูกไหล ที่พบได้บ่อยมากเลยก็คือ มีน้ำมูกไหลนั่นเอง ซึ่งน้ำมูกไหลที่มีลักษณะใส จะเกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ 

น้ำมูกไหลจากไข้หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง เช่น เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย จะทำให้เกิดอาการของไข้หวัดได้ เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว และต่อมภายในโพรงจมูกให้มีการหลั่งน้ำมูก ทำให้ผู้ป่วยมักมีน้ำมูกใสๆ ตลอดทั้งวัน ซึ่งเกิดจากการตอบสนองของร่างกาย 

น้ำมูกไหลจากการแพ้ หรือ ภูมิแพ้ ซึ่งเกิดจากการสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดการแพ้ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ เป็นต้นแล้ว มีการตอบสนองต่อสารที่แพ้ด้วยการหลั่งฮีสตามีน (histamine) ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น มีผื่นคัน หายใจลำบาก คันจมูก รวมทั้งน้ำมูกไหล อาการจึงเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการเรื้อรังนานเป็นปี ขึ้นกับระยะเวลาที่ได้สัมผัสกับสารที่แพ้นั่นเอง

ยารักษาอาการน้ำมูกไหล หรือยาลดน้ำมูก มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของยาแอนติฮีสตามีน(ยาแก้แพ้) และยาลดการคั่งของน้ำมูก

ยาลดน้ำมูก เป็นกลุ่มยาออกฤทธิ์ช่วยลดการบวมขยายของเส้นเลือดในจมูก ลดการอักเสบ และลดการสร้างน้ำมูก สามารถบรรเทาอาการคัดจมูกหรือมีน้ำมูกที่เกิดจากหวัด ไข้หวัด ไข้ละอองฟาง โพรงจมูกอักเสบ โรคภูมิแพ้อื่น ๆ มีทั้งชนิดซื้อใช้ได้เองหรือต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ และมีหลายประเภท ได้แก่ ยาพ่นจมูก ยารับประทานชนิดเม็ด ยาน้ำ ยาผงสำหรับละลายน้ำ ยาหยอดจมูก เป็นต้น

ยาลดน้ำมูกมักใช้เพียง 3 หรือ 4 ครั้งต่อวันเท่านั้น ก่อนใช้ควรอ่านและปฏิบัติตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ ส่วนยาชนิดพ่นไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 1 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้อาการคัดจมูกแย่ลงได้

ยาลดน้ำมูก

ข้อควรระวัง การใช้ยาลดน้ำมูก ได้แก่

1.แจ้งให้แพทย์ทราบประวัติการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาก่อนใช้ยา

 2.แจ้งให้แพทย์ทราบประวัติการใช้ยาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้ โดยเฉพาะยากลุ่มเอมเอโอไอ  เช่น ยาเซเลจิลีน และยาไอโซคาร์บอกซาซิด ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ความดันโลหิตเพิ่มสูงถึงขั้นเป็นอันตราย เป็นต้น

3.ห้ามใช้ยาฟีนิลเอฟรีนและยาซูโดเอฟีดรีน ภายใน 14 วันหลังจากใช้ยากลุ่มเอมเอโอไอ เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด ยาลีเนโซลิด และยาฟีเนลซีน เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย

4.แจ้งให้แพทย์ทราบโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ต่อมลูกหมากโต โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ ภาวะการไหลเวียนโลหิตผิดปกติ และต้อหิน

5.ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ใช้ยานี้ ส่วนเด็กอายุ 6-12 ปี ให้ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

6.ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ใช้ยาซูโดเอฟีดรีน ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กถึงขึ้นเสียชีวิตได้

7.ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ห้ามใช้ยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะตัวยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือซึมผ่านน้ำนมมารดาและก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดน้ำมูก

เนื่องจากยาลดน้ำมูกแต่ละชนิดล้วนมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาแตกต่างกันไปด้วย 

1.ปวดศีรษะ

2.ระคายเคืองในจมูก

3.ปากแห้ง

4.คลื่นไส้ หรืออาเจียน

5.หงุดหงิด กระสับกระส่าย

6.มีผื่นขึ้น

7.มีอาการสั่น

8.นอนไม่หลับ

9.หัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว

10.ปัสสาวะลำบากในผู้ชาย

11.อาการหลอน อาจได้กลิ่น ได้ยินเสียง รับรู้รสชาติ หรือรู้สึกถึงสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

12.เกิดรอยช้ำหรือมีเลือดออกง่าย

13.อ่อนเพลียผิดปกติ

14.มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามตัว มีอาการของหวัด

15.ความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง

16.สับสน วิตกกังวล

ยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้ (antihistamine) 

คือยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮิสตามีนซึ่งหลั่งเมื่อเกิดอาการแพ้ ยาในกลุ่มนี้จึงถูกเรียกสั้นๆ ว่า ยาแก้แพ้ โดยในปัจจุบัน มีอยู่หลายชนิด ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มดั้งเดิม (conventional antihistamines) ที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง และกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน (non-sedating antihistamines)

กลุ่มที่หนึ่งดั้งเดิม ยับยั้งการทำงานของฮิสตามีนและสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีน ทำให้น้ำมูกลดลง จึงสามารถใช้บรรเทาอาการน้ำมูกไหลจากทั้งสาเหตุไข้หวัดและอาการแพ้ได้ และเนื่องจากยาในกลุ่มนี้สามารถผ่านเข้าสู่สมองไปกดระบบประสาท ทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ มีอาการง่วงซึม ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง ซึ่งเป็นผลจากการยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีนที่ส่วนอื่นๆของร่างกาย ยากลุ่มนี้ คือ  คลอเฟนิรามีน   บรอมเฟนิรามีน ไดเฟนไฮดรามีน ไดเมนไฮดริเนต ไฮดรอไซซีน ทริโปรลิดีน เป็นต้น อาการข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น เกิดอาการง่วงซึม เสมหะเหนียวข้น ไอเอาเสมหะออกได้ยาก ปัสสาวะไม่ออก คอแห้ง ปากแห้ง ท้องผูก ดังนั้นควรใช้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการง่วงนอน ขณะขับรถ หรือพลัดตก หกล้มได้

ยากลุ่มที่สองไม่ทำให้ง่วงนอน จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮิสตามีนโดยไม่ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีน ทำให้ใช้บรรเทาอาการน้ำมูกไหลจากภูมิแพ้ได้ดี ต้านการอักเสบ จึงเหมาะกับผู้ที่มีอาการอักเสบจากภูมิแพ้จมูก ภูมิแพ้ที่เยื่อบุตา และลมพิษ เป็นต้น มีผลข้างเคียง อันได้แก่ อาการปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ท้องผูก และปัสสาวะคั่ง ยาในกลุ่มนี้สามารถผ่านเข้าสู่สมองได้น้อยกว่าจึงทำให้เกิดผลข้างเคียงง่วงซึมได้น้อยกว่าอีกด้วย เช่น เฟโซเฟนาดีน  ลอราทาดีน เซทิริซีน เลโวเซทิริซีน เป็นต้น

การเลือกใช้ยาลดน้ำมูกจะต้องพิจาณาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล ประกอบกับประสิทธิภาพของยาและความปลอดภัยของผู้ป่วย มาใช้ประกอบในการตัดสินใจเลือกใช้ ดังนั้นไม่ควรซื้อยามารับประทานเองควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง เพราะสาเหตุของการมีน้ำมูกไหลอาจจะไม่ใช่สาเหตุเดียวกันทุกครั้งซึ่งผลข้างเคียงมีทั้งไม่รุนแรงและรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ ควรปลอดภัยไว้ก่อน

Back To Top