หน้าใสจัง ไม่มีสิวเลย ว้าว ๆ สาว ๆ จะชอบมากถ้าถูกชมแบบนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรที่จะรักษาผิวหน้าให้เนียนใส ไร้สิว เพราะบนใบหน้าไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดแบคทีเรียอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นที่อาศัยของแบคทีเรียจำนวนมาก มีทั้งแบคทีเรียตัวดีช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียรุกราน และแบคทีเรียผลัดถิ่นที่เป็นต้นเหตุของสิวอักเสบ ดังนั้นใบหน้าที่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงก็คือ ใบหน้าที่มีแบคทีเรียตัวดีอยู่มากนั้นเอง
สิวอักเสบ เกิดจากแบคทีเรียกลุ่ม Propionibacterium acne ( P.acne) ซึ่งเป็นแบคทีเรียผลัดถิ่นบนใบหน้า ปล่อยเอมไซม์กระตุ้นสิวอุดตันให้เกิดการอักเสบ ทำให้สิวอุดตันกลายเป็นสิวอักเสบขึ้นมา โดยมีความรุนแรงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ เมื่อเป็นสิวอักเสบแล้วจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีเพื่อลดการอักเสบลุกลาม และป้องกันการเกิดรอยแผลเป็น
สิวอักเสบ (Inflammatory ance หรือ Papulopustular acne) เกิดอาการอักเสบบริเวณรูขุมขนและต่อมไขมันใต้ผิวหนัง มีลักษณะเป็นเม็ดตุ่มนูนๆ บวมแดง อาจเป็นเม็ดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ บางครั้งเป็นหนองบริเวณหัวสิว หรือที่เรียกว่า สิวหนอง สิวที่มีการอักเสบมากทำให้มีขนาดใหญ่ซึ่งเรียกว่า สิวหัวช้าง ที่มักก่อให้เกิดความเจ็บปวดหากสัมผัสโดนบริเวณนั้น
สิวอักเสบ มี 4 ชนิด ได้แก่
1.สิวตุ่มแดง เป็นตุ่มสีแดงขนาดเล็ก เป็นก้อนแข็งนูนขึ้น ทำให้เกิดความเจ็บปวด เป็นสิวที่ไม่มีการอักเสบรุนแรงและมีจำนวนไม่มาก
2.สิวหัวหนอง เป็นผลมาจากการอักเสบบริเวณต่อมเหงื่อและรูขุมขน เกิดเป็นตุ่มที่มีหนองสีขาวอยู่ตรงหัวสิว เป็นจำนวนมาก มีสิวอักเสบก้อนลึก บนใบหน้า
3.สิวก้อนลึก คล้ายสิวตุ่มธรรมดา แต่ตุ่มจะเป็นก้อนแข็งขนาดใหญ่ลึกลงไปในชั้นผิวหนัง โดยเกิดขึ้นได้ในหลายจุด ทั้งใบหน้า หน้าอก และแผ่นหลัง
4.สิวซีสต์ ตุ่มสิวขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายฝี ภายในเป็นหนองอักเสบ เป็นสิวอักเสบชนิดที่รุนแรงที่สุดและมีความเจ็บปวดไปทั่วบริเวณที่มีสิว
สาเหตุของสิวอักเสบ
โดยสิวอักเสบอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่างรูขุมขนอุดตัน และกรรมพันธุ์ รวมถึงภาวะที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง สิวอักเสบอาจเกิดจากการอุดตันในรูขุมขนและต่อมไขมันใต้ผิวหนังบริเวณสิวอุดตัน หรืออาจเกิดกระบวนการอักเสบขึ้นมาเองบริเวณผิวหนังปกติ โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบ เช่น
1.กรดไขมันอิสระและไขมันผิวหนัง (Sebum) ที่ซึมเข้าสู่ชั้นผิวหนัง
2.สารที่ผลิตโดยแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว (Propionibacterium Acnes หรือ P.Acne) แพร่เข้าสู่ชั้นผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบ
3.การอุดตันในรูขุมขนที่นำไปสู่การอักเสบเรื้อรัง การอุดตันของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว สิ่งสกปรกจากการมีสุขอนามัยที่ไม่ดี ใช้เครื่องสำอางที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน
4.สารก่ออาการอักเสบ ที่ถูกผลิตขึ้นภายในเยื่อบุเซลล์ ต่อมไขมัน หรือในระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย
5.ภาวะภูมิไวเกิน หรือปฏิกิริยาที่มากเกินไปของภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว
6.ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่เพิ่มมากขึ้น (Testosterone) ซึ่งฮอร์โมนนี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเจริญเติบโตในวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ ทำให้ฮอร์โมนนี้ไปกระตุ้นต่อมไขมันใต้ผิวหนังให้ทำงานมากขึ้น เพศหญิง จึงมีอาจเป็นสิวได้มากในช่วงที่ฮอร์โมนเพศในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะตอนช่วงมีประจำเดือนหรือช่วงที่ตั้งครรภ์
7.กรรมพันธุ์ หากมีพ่อแม่ที่เป็นสิว ผู้สืบสายเลือดรุ่นต่อมามีโอกาสที่จะเป็นสิว หรือมีแนวโน้มเป็นสิวในระดับรุนแรงได้
8.การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นสิวได้ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลิเทียม ยาต้านอาการชัก เป็นต้น
9.การสูบบุหรี่ อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดสิว โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมาก
การรักษาสิวอักเสบ
วิธีรักษาต้องเริ่มจากที่ต้นเหตุหลัก คือ การลดแบคทีเรียกลุ่ม P.acne บนใบหน้า การรักษาสิวด้วยวิธีการขั้นตอนต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนจ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ ประเภท ความรุนแรงของสิว และสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวด้วย
1.ยาคุมกำเนิด แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ที่มีสิวบางรายกินยาคุมกำเนิดเพื่อปรับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งอาจช่วยให้สิวยุบลง
2.ครีมหรือเจลแต้มสิวที่มีตัวยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ และตัวยาคลินดาไมซิน ซึ่งควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ โดยก่อนแต้มยารักษาสิว
3.ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) ยาอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ ช่วยลดการผลิตไขมันจากต่อมไขมัน ป้องกันการอุดตันของรูขุมขน ลดปริมาณแบคทีเรียในชั้นผิวหนัง และลดอาการบวมแดงจากการเกิดสิว แต่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
4.โฟโตไดนามิก (Photodynamic Therapy) ทายาไว้บนผิวหนังที่เกิดสิวแล้วฉายเลเซอร์ลงไปบนผิว เร่งปฏิกิริยาและกระตุ้นให้ยาออกฤทธิ์ ช่วยฆ่าแบคทีเรีย และยังช่วยลดขนาดและการทำงานของต่อมไขมัน
5.เครื่องสุญญากาศดูดสิว (Isolaz) เป็นการใช้เครื่องดูดร่วมกับการฉายแสง ดูดไขมันส่วนเกินใต้ผิวหนังและใช้แสงช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว ลดการผลิตไขมันของต่อมไขมันลง
6.การฉีดสเตียรอยด์ (Steroid) เป็นการรักษาสิวก้อนลึกและสิวซีสต์ ทำให้การบวมอักเสบของสิวหายไปโดยที่ไม่ต้องบีบสิวออกมา ด้วยการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปยังบริเวณที่เป็นสิว
7.การผ่าตัด สิวซีสต์ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือวิธีการอื่น ๆ แพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อนำสิ่งอุดตันภายในออกมา
8.การผลัดเซลล์ผิว เช่น การใช้กรดซาลิเซลิกเพื่อขัดลอกผิวชั้นนอก ลดการอุดตันของน้ำมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว โดยจะมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงเมื่อใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่น ๆ
การป้องกันการเกิดสิวอักเสบ
โดยทั่วไป การเกิดสิวอักเสบป้องกันได้ด้วยแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1.รักษาความสะอาดบนใบหน้า ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำสะอาดและผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวหน้า และไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม เพื่อกำจัดไขมันและสิ่งสกปรกที่อุดตันบนผิวหนัง ไม่ควรล้างหน้าบ่อยจนเกินไป เพราะทำให้ผิวระคายเคืองได้
2.ใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Normal Saline Solution) เช็ดแผลที่เกิดจากสิวอักเสบหรือใช้เช็ดทำความสะอาดใบหน้าอีกครั้งหลังล้างหน้า ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
3.เลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่ช่วยควบคุมความมันบนใบหน้า แต่ให้ความชุ่มชื้นกับผิว ไม่ทำให้ผิวแห้งจนเกินไป โดยต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานการรับรองอย่างถูกต้อง
4.อาบน้ำชำระล้างร่างกายหลังกิจกรรมที่ใช้แรงหนัก หรือมีเหงื่อออกมาก
5.เลือกใช้แชมพูสระผม ที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมัน เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันรูขุมขนใต้ผิวหนัง จนทำให้เกิดสิวได้
6.ล้างเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนเข้านอน ไม่นอนหลับไปพร้อมกับเครื่องสำอาง
7.สวมใส่เครื่องแต่งกายที่ไม่รัดหรือเสียดสีกับผิว เพื่อป้องกันการอุดตันและการระคายเคือง
8.หลีกเลี่ยงแสงแดด หรือสวมหมวก กางร่ม เนื่องจากแสงแดดอาจกระตุ้นกระบวนการอักเสบ
9.ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพผิว
10.หากกำลังรักษาสิวด้วยยาหรือการรักษาใด ๆ ควรใส่ใจรับประทานยาและรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
11.ไม่บีบสิว หรือสัมผัสผิวบริเวณที่เป็นสิว เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเกิดรอยแผลเป็นบนผิวหนัง
12.หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางในขณะที่เป็นสิว หรือทาทับบริเวณที่เป็นสิว ทำให้เพิ่มการอุดตันมากขึ้น
13.ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่
สิวอาจเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ บนใบหน้า แต่ก็ก่อให้เกิดความวิตกกังวล เป็นทุกข์ ขาดความมั่นใจ มีอาการเจ็บปวดจากสิวเหล่านั้น ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้ลุกลามเป็นสิวอักเสบใหญ่ได้ เมื่อเป็นสิวแล้วไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตามควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพื่อรับการตรวจรักษา พร้อมทั้งดูแลด้วยตนเองด้วย รักษาความสะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารมัน ไม่บีบสิวเอง หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และเมื่อเกิดการอักเสบให้รีบไปพบแพทย์ทันที