ขาบวม สัญญาณเตือนภัยถึงโรคร้าย

ขาบวม

หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายกันเอาไว้ เพราะแค่อาการเท้าบวมที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย จริง ๆ แล้วอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงโรคร้ายอีกหลาย ๆ โรค ที่กำลังเผชิญโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ถ้าเท้าเริ่มบวมจนรู้สึกได้ถึงความผิดปกติ บวมเสียจนใส่รองเท้าไม่ได้ หรือรู้สึกบีบรัดตึง ใส่รองเท้าไม่สวยเหมือนเก่า ไม่ควรชะล่าใจมองข้ามไป เพราะเท้าบวม สัญญาณเบื้องต้นของโรคร้ายหลาย ๆ โรค อาการเท้าบวม เป็นอาการที่มีภาวะบวมตั้งแต่เท้าขึ้นไปถึงข้อเท้ารวมถึงหน้าแข้งได้ อาจบวมข้างหรือเป็นทั้งสองข้าง 

สาเหตุของอาการเท้าบวม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  1. บวมแบบกดแล้วไม่บุ๋มค้าง เป็นเนื้อแข็ง ๆ แน่น ๆ โดยลองใช้นิ้วกดลงบริเวณที่บวม 5-10 วินาที เมื่อยกนิ้วออกแล้วไม่บุ๋มค้าง สาเหตุมาจากการอุดตันของทางเดินน้ำเหลือง ซึ่งจะพบได้น้อยแต่ก็จำเป็นต้องพบแพทย์
  2. บวมแบบกดแล้วบุ๋มค้าง สาเหตุหลัก ๆ ของอาการบวมลักษณะนี้ ได้แก่

– หลอดเลือดดำที่ขาอุดตันทำให้เกิดการบวมโดยที่ไม่มีอาการปวด ส่วนใหญ่เกิดจากไม่ได้ขยับขาหลังผ่าตัด นอนติดเตียง รวมถึงกระดูกขาหักต้องดามด้วยเฝือกเป็นเวลานาน จะมีอาการบวมและอาจปวดได้

– เส้นเลือดขอดจากการยืนหรือนั่งเป็นวลานาน เมื่อกล้ามเนื่อไม่ได้มีการเคลื่อนไหว ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปยังหัวใจได้ การเก็บสะสมของน้ำและเลือดเป็นสาเหตุของการปวดบวมที่ขา 

 – แพ้ยา หรือสารเคมีต่าง ๆ

– ได้รับอุบัติเหตุ เช่นข้อเท้าพลิก ตกจากที่สูงแล้วเอาเท้าลงพื้น ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ เช่น เอ็นข้อเท้า ผิวหนัง กล้ามเนื้อ หรือแม้แต่กระดูกข้อเท้าหักก็ทำให้เกิดอาการบวมขึ้นมาได้

– การติดเชื้อ การติดเชื้ออักเสบที่เท้าจะทำให้มีอาการแดงร้อน บวม และปวดหรือมีไข้ได้ มักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง

– ภาวะครรภ์เป็นพิษ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดีมีอาการหน้าบวม แขนบวม และเท้าบวมได้

– ผลข้างเคียงของยา ยาบางชนิดทำให้เกิดอาการบวมได้ เช่น ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนโปรเจสเตอโรน ยาความดันบางชนิด สเตียรอยด์ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่นบรูเฟ่น

– โรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น 

โรคไต  ในภาวะของไตวายเรื้อรังจะมีอาการน้ำเกิน ขาบวมทั้งสองข้าง และถ้าเป็นไตอักเสบหรือโปรตีนรั่วในปัสสาวะ จะพบว่าขาบวมทั้งสองข้างอาจพบความดันโลหิตสูง ปัสสาวะเป็นฟองร่วมด้วยได้

โรคหัวใจ  ทำให้หัวใจปั๊มเลือดไม่ไหว ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว มีการคั่งของเลือดในหลอดเลือดดำ ขาจะบวมทั้งสองข้างไม่ปวด แต่กดจะมีรอยบุ๋มปรากฏขึ้นได้

โรคตับแข็ง  ภาวะตับแข็งทำให้เกิดอาการบวมในขาทั้งสองข้างได้มักจะพบท้องบวมโตมีน้ำในช่องท้องได้

โรคเบาหวาน มักจะมีอาการเส้นประสาทเสื่อม ชาปลายมือปลายเท้า จึงมีอาการบวมและอาจเกิดแผลได้ง่าย

โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) ซึ่งเป็นการอักเสบระยะยาวของเยื่อหุ้มหัวใจซึ่งเป็นเยื่อหุ้มถุงรอบหัวใจ อาการนี้ทำให้หายใจลำบากและมีอาการบวมที่ขาและข้อเท้าอย่างรุนแรง

–  ขาดอาหารประเภทโปรตีน ทำให้เกิดอาการบวมตามตัว โดยเฉพาะขาและเท้าทั้งสองข้าง เพราะเป็นอวัยวะที่อยู่ต่ำสุดของร่างกาย

– ท่อน้ำเหลืองอุดตันก็สามารถทำให้เกิดภาวะเท้าบวมได้

– โรคไทรอยด์ ฮอร์โมนมากเกินปกติหรือต่ำกว่าปกติ ความรุนแรงขึ้นอยู่กับสภาพหรืออาการของโรคที่เกิดขึ้น

– การอักเสบเฉพาะที่ สาเหตุจากการติดเชื้อเป็นหนอง อาจจะมีไข้สูง ปวดบวมรุนแรง จนไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ

– น้ำหนักตัวเยอะเกินไป มวลร่างกายที่มีมากเกินไป ทำให้การไหลเวียนของเลือดนั้นลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุของการปวดบวมส่วนปลาย

– การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ระดับการเปลี่ยนแปลงในฮอร์โมนเอสโทรเจนและโปรเจสเทสเทอโรน เป็นสาเหตุงของอาการเท้าบวม ส่วนมากจะเกิดกับผู้หญิงที่มีรอบเดือน และมีการตั้งครรภ์

อาการเท้าบวม

ข้อสังเกต 

ข้อสังเกตความผิดปกติง่าย ๆ ว่ามีอาการเท้าบวมมักจะมีอาการเหล่านี้ ได้แก่

1.มีอาการตึงที่เท้า ร่องรอยย่นของผิวหนังหายไป

2.ใส่รองเท้าแล้วคับ ใส่กางเกงแล้วติดขา

3.เห็นรอยบุ๋มชัดเจนเมื่อถอดรองเท้าหรือถุงเท้าออก

4.เอานิ้วกดอยู่บริเวณหน้าแข้งด้านในแล้วบุ๋มลงไปไม่เด้งกลับมา

ภาวะแทรกซ้อน

เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้ควรจะไปพบแพทย์

1.โรคหัวใจหรือโรคไตอย่างไดอย่างหนึ่ง และมีอาการบวมที่เท้า มือ หรือข้อเท้า

2.โรคตับและมีอาการขาบวม

3.อวัยวะมีอาการบวมมีอาการปวดอักเสบ แดง และร้อนเมื่อสัมผัส

4.อุณหภูมิร่างกายของคุณสูงผิดปกติ

5.การตั้งครรภ์ และมีการปวดบวมอย่างรุนแรง

6.อาการบวมของคุณนั้นแย่ลง

7.มีอาการเจ็บปวด มีความดันสูง หรือหายใจติดขัดบริเวณหน้าอก

8.อาการเวียนหัว

9.รู้สึกสับสน รู้สึกมึนศีรษะหรือเหมือนจะเป็นลม

10.มีการหายใจติดขัด หรือการหายใจถี่ขึ้น

วิธีการป้องกันอาการเท้าบวม

อาการเท้าบวมไม่สามารถป้องกันได้ถาวร ขั้นตอนที่ช่วยป้องกันเท้าบวมได้ในเบื้องต้น ดังนี้:

1.การออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นการรักษาการไหลเวียนของเลือดได้ดีขึ้นได้ผลในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18 ถึง 64 ปีแนะนำให้ออกกำลังกายในระดับปกติเวลา 150 นาที หรืออกกำลังกายในระดับหนักหน่วงเวลา 75 นาทีต่อสัปดาห์

2.หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน ให้ลุกขึ้นไปยืดเส้นยืดสายบ้างเมื่อนั่งนาน

3.ลดการใส่เกลือลงในอาหาร แนะนำให้ผู้ใหญ่รับประทานเกลือได้ไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน

การรักษาเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการเท้าบวม

การรักษาเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการเท้าบวม

การรักษาเบื้องต้นที่บ้านก็คือ การยกเท้าขึ้นสูง ลดการรับประทานเค็ม ขยับขาบ่อย ๆ จะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และมีขั้นตอนการดูแลตัวเองเบื้องต้นในการรักษาและบรรเทาอาการเท้าบม ดังนี้

1.หากอยู่ในภาวะอ้วน น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ให้ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร พยายามคุมน้ำหนัก อย่าให้น้ำหนักเกิน จะเกิดอาการบวมได้ง่าย

2.ไม่ทานอาหารที่รสจัดจนเกินไป ทั้งหวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด และเผ็ดจัด ลดอาหารเค็ม เนื่องจากการทานเค็มจะทำให้ร่างกายบวมน้ำได้

3.ไม่ควรยืนนิ่งๆ นาน ๆ ควรมีการขยับแข้งขยับขา เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกยิ่งขึ้น

4.ยกเท้าสูงขึ้นเล็กน้อยก่อนนอน ช่วยลดอาการบวมได้ดี การนั่งยกขาสูงตอนกลางวันช่วงทำงานถ้าทำได้

5.หากบวมมากผิดปกติ และไม่มีทีท่าจะหาย หรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน

6.พัก ลดการเดินในกรณีที่เท้าบวมจากการเดินมากเกินไป

7.ประคบเย็น ใช้ cold pack ห่อผ้าขนหนูประคบประมาณ ชั่วโมงละ 10 นาที

8.พันผ้าป้องกันการบวม พันจากปลายเท้ามาที่บริเวณน่อง ระวังอย่าพันแน่นเกินไป

9.ถ้าทำงานที่ต้องยืนนาน ๆ อาจลองใช้ถุงน่องเพื่อสุขภาพเพื่อป้องกันเส้นเลือดขอดมาช่วยก็ได้ผลดี

10.ถ้ามีอาการปวดมาก พักแล้วไม่ทุเลา หรือเดินลงน้ำหนักไม่ได้ แนะนำว่าควรพบแพทย์นะครับ อาจจะมีกระดูกแตกร้าวหรือเอ็นฉีกแบบรุนแรงได้

11.วิธีการรักษาโดยการใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง อาจจะทำให้อาการบวมนั้นลดลง เช่น ยาขับปัสสาวะ 

12.หมั่นขยับข้อเท้า หัวเข่า โดยเฉพาะการยืดเหยียดบ่อย ๆ

13.หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดเกินไป เช่น กางเกงยีนส์ฟิต ๆ จะทำให้เลือดไหวเวียนไม่สะดวก

ดังนั้นถ้ามีภาวะอาการเท้าบวมและเกิดความสงสัยว่าจะเป็นโรคใดโรคหนึ่งจึงควรมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง และควรนำยาที่รับประทานอยู่ทั้งหมดมาพบแพทย์ด้วยเพื่อประเมินว่าอาการบวมนั้นเกิดจากยาหรือไม่ ถึงแม้ว่าอาการเท้าบวมนั้นจะไม่ค่อยมีอันตรายมากนัก แต่มันอาจบ่งบอกถึงโรคบางอย่างซึ่งรุนแรงกว่า เพราะฉะนั้นไม่ควรปล่อยปะละเลย เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

 

Back To Top