ไทรอยด์ต่ำ การดูแลตัวเอง

ไทรอยด์

ร่างกายประกอบด้วยอวัยวะหลาย ๆ ส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งอวัยวะทุกส่วนในร่างกายล้วนมีสำคัญต่างกันไป ต่อมไทรอยด์เองก็ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญเพราะมีหน้าที่ผลิตและควบคุมระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย คอยสร้างสมดุลให้กับร่างกาย ถ้าหากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติก็จะส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายไม่ปกติ และขาดความสมดุลไปด้วย

ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะขาดไทรอยด์ คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาไม่เพียงพอ ฮอร์โมนไทรอยด์จะควบคุมกระบวนการใช้พลังงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายหรือที่เรียกว่ากระบวนการเมตาบอลิซึม ซึ่งส่งผลต่ออุณหภูมิ อัตราการเต้นหัวใจ และการเผาผลาญพลังงาน หากร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอ จะส่งผลให้การทำงานของร่างกายช้าลง 

อาการของไฮโปไทรอยด์

อาการของไฮโปไทรอยด์ปรากฏหลายอาการและแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงที่ขาดฮอร์โมน อาการที่พบได้บ่อยของภาวะไฮโปไทรอยด์ มีดังต่อไปนี้

1.อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย

2.น้ำหนักขึ้น บวมน้ำ หน้าบวมฉุ

3.ท้องผูก

4.รู้สึกหนาวง่าย

5.ผิวและผมแห้ง

6.ซึมเศร้า

7.เสียงแหบ

8.ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือมามากกว่าปกติ

9.มีบุตรยาก

10.ความต้องการทางเพศลดลง

11.โรคเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ (ทำให้รู้สึกเจ็บหรือชาที่มือ)

12.หลงลืมหรือความคิดสับสน (พบในผู้ป่วยสูงอายุ)

13.นอนมากเกินไป  ง่วงซึม

14.สำลักอยู่บ่อย ๆ ลิ้นมีขนาดใหญ่คับปากและยื่นออกมา ฟันแท้ขึ้นช้ากว่าปกติ

15.เจริญเติบโตช้า (ส่งผลให้รูปร่างเตี้ย) มวลกล้ามเนื้อน้อย เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้า 

16.การเรียนรู้ช้า

สาเหตุของไฮโปไทรอยด์

สาเหตุของไฮโปไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ มีผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะกระบวนการเมตาบอลิซึม หากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาไม่เพียงพอสามารถก่อให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์ เกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้

1.โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Disease) โรคนี้คือการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผลิตแอนติบอดี้ขึ้นมาทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายตัวเอง 

2.ไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต (Hashimoto’s Thyroiditis) เมื่อต่อมไทรอยด์ผลิตแอนติบอดีขึ้นมาทำลายเนื้อเยื่อของตัวเอง ทำให้ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาได้ไม่เพียงพอจนนำไปสู่ภาวะขาดไทรอยด์ 

3.เคยได้รับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (ผ่าตัดไทรอยด์เพียงบางส่วน)จะทำให้ร่างกายลดหรือหยุดการผลิตฮอร์โมน

4.พันธุกรรม

5.โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ 

6.เคยได้รับการรักษาด้วยการฉายกัมมันตรังสีหรือยาต้านไทรอยด์ โดยรังสีจะทำลายเซลล์ภายในต่อมไทรอยด์ ทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนออกมาได้เพียงพอ

7.เคยได้รับการฉายรังสีที่คอหรือหน้าอกส่วนบน

8.โรคแต่กำเนิด (Congenital Disease) ทารกบางคนไม่มีต่อมไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่องมาตั้งแต่เกิด เรียกว่าโรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด (Congenital Hypothyroidism)

9.ความผิดปกติของต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) การทำงานของต่อมใต้สมองที่ผิดปกติสามารถส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ได้ ส่งผลให้ฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายน้อยลง มักพบได้น้อย

10.การตั้งครรภ์ สตรีตั้งครรภ์บางรายอาจประสบภาวะขาดไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังตั้งครรภ์ไปแล้ว เรียกภาวะที่เกิดขึ้นว่าไทรอยด์ต่ำหลังคลอด (Postpartum Hypothyroidism) เมื่อต่อมไทรอยด์อักเสบ ทำให้ร่างกายผลิตสารภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายเซลล์ในต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาน้อยลง

11.การขาดธาตุไอโอดีน ธาตุไอโอดีนถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ทั้งนี้ ร่างกายไม่สามารถผลิตแร่ธาตุนี้ได้เอง 

12.ยารักษาโรคบางตัว ที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ภาวะทางจิต หรือโรคมะเร็งนั้น บางครั้งก็ส่งผลกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ได้แก่ ยาอะมิโอดาโรน ยาลิเทียม อินเตอร์เฟอรอน ยาอินเตอร์ลูคีน 2 

ภาวะแทรกซ้อนของไฮโปไทรอยด์

ไฮโปไทรอยด์หรือภาวะขาดไทรอยด์ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากอาการป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา รวมทั้งผลข้างเคียงจากการได้รับการรักษา ดังต่อไปนี้

1.คอพอก ต่อมไทรอยด์ที่ถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ต่อมไทรอยด์ใหญ่ขึ้นหรือที่รู้จักกันในอาการคอพอก อาการคอพอกจะส่งผลต่อรูปลักษณ์ รวมทั้งยังทำให้กลืนอาหารและหายใจลำบาก

2.ปัญหาสุขภาพหัวใจ ไฮโปไทรอยด์อาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากระดับไขมันเลว (Low-Density Lipoprotein: LDL) ที่สูง โดยภาวะขาดไทรอยด์ยังอาจทำให้หัวใจโตและภาวะหัวใจล้มเหลว

3.ปัญหาสุขภาพจิต มักเกิดอาการซึมเศร้าในช่วงแรก และอาจรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะมีการพัฒนาการทางสมองที่ช้าได้ด้วย

4.ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) ถ้าปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรังเป็นเวลานาน จะทำลายปลายประสาท ซึ่งจะรู้สึกเจ็บ ชา หรือเสียวแปลบบริเวณที่เส้นประสาทถูกทำลาย และอาจก่อให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ

5.ภาวะมิกซีดีมาโคม่า (Myxedema Coma) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดแต่พบได้น้อย และอันตรายถึงชีวิต ซึ่งจะเกิดอาการทนหนาวไม่ได้และง่วงซึม ความดันโลหิตต่ำ หายใจแผ่ว อุณหภูมิร่างกายลดลง ไม่ตอบสนองใด ๆ หลับลึกและไม่รู้สึกตัว อาจทำให้เสียชีวิตได้

6.ภาวะมีบุตรยาก ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำส่งผลต่อการตกไข่ของผู้หญิง ทำให้มีบุตรได้ยาก 

7.เด็กเกิดมาผิดปกติ สตรีมีครรภ์ที่ป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์และไม่ได้รับการรักษา เสี่ยงที่ทารกจะเกิดมาและมีความผิดปกติสูง

 8.ผลข้างเคียงจากการได้รับการรักษา การรักษาไฮโปไทรอยด์ด้วยยาเลโวไทรอกซิน (Levothyroxine Tablets) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ หากมีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด อาการจะยิ่งกำเริบเมื่อเริ่มใช้ยานี้ และถ้าใช้มากเกินไปอาจเกิดอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ 

การป้องกันไฮโปไทรอยด์

ไฮโปไทรอยด์หรือภาวะขาดไทรอยด์เป็นโรคที่ป้องกันได้ยากหากสาเหตุมาจากภาวะไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต แต่ถ้าเกิดจากการขาดธาตุไอโอดีน สามารถป้องกันได้ด้วยการรับธาตุไอโอดีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อาจจะเลือกซื้อเกลือเสริมไอโอดีนและผลิตภัณฑ์ที่เสริมแร่ธาตุไอโอดีน เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส และเกลือปรุงอาหาร เพื่อเอาไว้ประกอบอาหาร และหมั่นสังเกตุอาการของตัวเอง สำหรับทารกที่เพิ่งเกิดมานั้นสามารถรับการตรวจด้วยวิธีเจาะเลือดที่ส้นเท้า หากตรวจพบว่าเด็กป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์ ก็สามารถรับการรักษาได้ด้วยการให้ฮอร์โมนสังเคราะห์ ทำให้เด็กเติบโตได้ปกติ

การรักษาโรคไทรอยด์

การรักษาโรคไทรอยด์

 1.ไฮโปไทรอยด์สามารถรักษาได้ด้วยการให้ฮอร์โมนสังเคราะห์อย่างยาเลโวไทรอกซิน (Levothyroxine) ซึ่งเป็นยาสำหรับรับประทาน เลโวไทรอกซินจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนในร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ และจะต้องมีการปรับยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา

2.สังเกตุอาการผิดปกติอยู่เสมอ เช่น หากมีอาการเซื่องซึมหรือดูร้อนรนผิดปกติ คอโตขึ้นคลำเจอก้อนบริเวณคอด้านหน้า ไม่ค่อยมีสมาธิ อ้วนหรือผอมผิดปกติ มือสั่น ใจสั่น น้ำหนักลดลง 

  1. งดของหวาน ของมัน ของทอด แป้งขาว น้ำตาลขาว เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และเครื่องมือที่มีแอลกอฮอล์

4.การลดความเครียด ทำกิจกรรมที่ตนเองชอบหรือการปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ทำให้มีความสุข สดชื่นเบิกบานแจ่มใส

5.ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ซึ่งการออกกำลังกายที่ดีที่สุดก็คือ การเดิน อาจจะเริ่มจากการเดินช้า ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มความเร็วให้มากขึ้น 

6.ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน สนทนาพูดคุยกันเกี่ยวกับอาการป่วยของตนมีการแลกเปลี่ยนความรู้ในการปฏิบัติตนเพื่อดูแลรักษาตนเองจากโรคไทรอยด์

7.รับประทานอาหารที่มีไอโอดีน เพราะไอโอดีนเป็นสารอาหารสำคัญในระบบการทำงานของต่อมไทรอยด์ อาหารที่มีไอโอดีนมากก็จะเป็นอาหารทะเลจำพวก ปลา หอยกาบ หอยนางรม กุ้ง ไข่ กระเทียม เห็ด และเมล็ดงา ก็มีไอโอดีนมากเช่นกัน

8.สังกะสี สังกะสีเป็นธาตุที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์จึงควรรับประทานอาหารที่มีแร่สังกะสีในปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกาย คือ อาหารจำพวกเนื้อวัว เนื้อแกะ หอยนางรม ถั่วเหลือง ถั่ววอลนัท เมล็ดทานตะวัน และธัญพืช

9.ธาตุเหล็ก เมื่อร่างกายขาดธาตุเหล็กจะทำให้ความสามารถในการทำงานของต่อมไทรอยด์ลดลง อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงจะเป็นอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ ตับ เลือด ผักโขม แครอท ฟักทอง ถั่วเหลือง ถั่วขาว รวมถึงเมล็ดฟักทองด้วย

10.สารต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินเอ วิตามินอี และวิตามินซี จะช่วยให้ต่อมไทรอยด์ต่อสู้กับการถูกทำลายจากสารอนุมูลอิสระได้ และยังช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของต่อมไทรอยด์ได้อีกด้วย อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี องุ่น หน่อไม้ฝรั่ง ชาเขียว ผักกาดหอม ถั่วเปลือกแข็ง และธัญพืชชนิดต่างๆ

11.วิตามินบี วิตามินเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินบี 2 บี 3 และบี 6 ที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ช่วยให้ร่างกายผลิตฮอร์โมน T4 ซึ่งเป็นฮอร์โมนไทรอยด์ชนิดหนึ่ง อาหารที่มีวิตามินบีสูง เช่น ปลา นม เห็ด ไข่แดง เครื่องในสัตว์ ตับ ถั่ว อัลมอนด์ และธัญพืชต่างๆ

การดูแลตนเองของผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์

ถ้ามีอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นไฮโปไทรอยด์ ควรรีบไปพบแพทย์และถ้าเป็นโรคนี้จริงก็ควรปฏิบัติ ดังนี้

1.ปฏิบัติตามที่แพทย์/พยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครึด รับประทานยาให้ครบถ้วน แพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะกับสภาพอาการ

2.ไปพบแพทย์ตามนัด และสม่ำเสมอ ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง

3.ไม่หยุดยาเอง และไม่รับประทานยาสมุนไพรโดยพลการ

4.สังเกตุอาการผิดปกติ ถ้ามีอาการให้รีบไปพบแพทย์ เช่น หงุดหงิดง่าย ใจสั่น เหงื่อออก มือสั่น

5.เมื่อรับการรักษากับแพทย์แล้วยังมีอาการไม่ปกติอยู่ ก็ควรรีบกลับไปพบแพทย์ผู้รักษาเพื่อจะได้ดูว่าเกิดจากอะไร แล้วจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง

หลายคนรู้จักโรคไทรอยด์แต่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แท้ที่จริงหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นโรคไทรอยด์ ซึ่งถ้าหากรู้ตัวเร็วรักษาเร็ว จะรักษาได้ทันท่วงทีและถูกต้อง ซึ่งไฮโปไทรอยด์มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยกลางคนไปจนถึงวัยสูงอายุ เพราะฉะนั้นถ้าสงสัยว่าจะเป็นโรคไทรอยด์ควรมาเจาะเลือดและพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยไทรอยด์ จะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

Back To Top