ริดสีดวง หายได้ ถ้ารู้จักดูแล

ริดสีดวง

ท้องผูกปัญหาโลกแตก เรื่องเล็กที่ไม่เล็กจริงเพราะส่งผลกระทบมากมายที่เด่นชัด และยอดฮิตติดอันดับคงหนีไม่พ้นโรคริดสีดวง ที่ไม่มีใครอยากเป็น โรคริดสีดวงไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่อาจเป็นโรคเรื้อรังที่เป็น ๆ หาย ๆ ได้ หลายคนรู้สึกอายที่เป็นบ่อย และบางคนเป็นน้อยแต่บางคนนะสิเป็นมากถึงขั้นรุนแรง ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก แม้จะนั่งเฉย ๆ ยังลำบากกันเลยทีเดียว จะพบได้มากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป 

โรคริดสีดวง หมายถึง การมีกลุ่มของหลอดเลือดดำบริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่และที่ขอบรูทวารหนักโป่งพองและยื่นออกมามีทั้งภายนอกและภายใน อาจปรากฏให้เห็นต่างกัน เกิดจากจากการขยายตัวของหลอดเลือดดำที่มีภาวะความดันสูง มีความผิดปกติในช่องท้อง จนเกิดอาการเจ็บ ๆ คัน ๆ

ในระยะแรก อาจมีเลือดออกหลังอุจจาระ หรือเคลือบอุจจาระออกมา และมีก้อนริดสีดวงโป่งพองโผล่ออกมาขณะอุจจาระ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกขณะหรือหลังถ่ายอุจจาระได้ จากการเสียดสีระหว่างอุจจาระกับเส้นเลือดที่โป่งพอง และจะเพิ่มเป็นอาการเจ็บปวดในระยะหลัง จะมีอาการเจ็บปวดและมีอาการอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น เวียนหัว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม

ริดสีดวงทวาร

สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร

เนื่องจากโรคริดสีดวงทวารไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน แต่มีภาวะความดันในหลอดเลือดดำสูงทำให้เส้นเลือดเกิดการบวมนูนเนื่องจากสาเหตุต่างๆหลายอย่าง เช่น

1.การเบ่งอุจจาระเป็นเวลานาน

2.โรคท้องผูก ขับถ่ายลำบากต้องใช้แรงเบ่ง และก้อนอุจจาระแข็ง

3.ใช้ยาสวนอุจจาระหรือยาระบายบ่อย

4.การตั้งครรภ์เกิดการกดทับเส้นเลือด

5.น้ำหนักเกิน ไขมันสะสมมีมากเกิดการเบียดทับอวัยวะบางส่วน

6.การทานอาหารที่มีกากใยน้อย ทำให้ท้องผูก

7.ไอเรื้อรัง เวลาไอความดันจะเพิ่มขึ้น

8.เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ เช่น โรคตับแข็งหรือโรคตับอักเสบไวรัสบี ซึ่งจะมีอาการท้องมานในระยะสุดท้าย และเมื่อมีน้ำในช่องท้องมาก ๆ ส่งผลไปกดการไหลเวียนเลือดในช่องท้องทำให้หลอดเลือดดำไหลกลับเข้าช่องท้องได้ไม่ดี

9.อาชีพ อาชีพที่ต้องยืนนาน ๆ จะมีผลให้ความดันเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณปากทวารไหลกลับสู่หลอดเลือดดำในช่องท้องช้าลง จึงเกิดการคั่งของหลอดเลือดดำบริเวณกลุ่มหลอดเลือดปากรูทวารหนักส่งผลให้กลุ่มหลอดเลือดดำโป่งพองจนเกิดอาการของโรค

ประเภทของโรคริดสีดวงทวาร

โรคริดสีดวงทวารมีการแบ่งออกเป็น  2  ประเภท เพื่อที่ง่ายต่อการวินิจฉัยและการรักษา

1.ริดสีดวงทวารภายใน (Internal Hemorrhoids)

หมายถึง ริดสีดวงทวารที่เกิดเหนือทวารหนักขึ้นไป จะมองไม่เห็นและคลำไม่ได้ และมักจะถูกคลุมด้วยเยื่อลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุดไม่มีความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่สามารถสังเกตได้ว่าหลังถ่ายอุจจาระจะมีเลือดหยดออกมา

2.ริดสีดวงทวารภายนอก (External Hemorrhoids)

หมายถึง ริดสีดวงที่เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถมองเห็นและคลำได้ หลอดเลือดที่โป่งพองจะถูกคลุมด้วยผิวหนังจึงอาจเกิดความเจ็บปวดได้ เพราะผิวหนังมีปลายประสาทรับความรู้สึก จะเห็นก้อนเนื้อออกมาจากทวารหนักชัดเจน ก้อนริดสีดวงอาจหลุดกลับเข้าไปเองได้หรืออาจต้องดันกลับเข้าไปในทวารหนัก 

การป้องกันโรคริดสีดวงทวาร

อาการของโรคริดสีดวงทวาร

ระยะที่ 1 จะมีเส้นเลือดดำโป่งพองในทวารหนักเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระจะมีเลือดไหลออกมาด้วย ถ้ายิ่งท้องผูกนานเวลาเบ่งถ่ายเลือดจะออกมากยิ่งขึ้น

ระยะที่ 2 อาการเริ่มเป็นมากขึ้น หัวริดสีดวงทวารโตมากขึ้นเริ่มโผล่ออกมาพ้นทวารหนักออกมาพอควร เวลาเบ่งอุจจาระจะออกมาให้เห็น แต่เวลาถ่ายอุจจาระเสร็จแล้วจะหดกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เอง

ระยะที่ 3 เริ่มมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้นเวลาถ่ายอุจจาระหัวริดสีดวงทวารจะโผล่ออกมามากกว่าเดิม หรือเวลาจาม ไอ ยกสิ่งของหนัก ๆ ที่ต้องเกร็งท้อง มีการเบ่งในท้องเกิดขึ้น หัวริดสีดวงทวารจะออกมาข้างนอกทวารหนักแล้วก็กลับเข้าที่เดิมไม่ได้ ต้องเอานิ้วมือดัน ๆ เข้าไปถึงจะเข้าไปอยู่ภายในทวารหนักได้

ระยะที่ 4 ระยะนี้อาการจะกำเริบมาก โตมากขึ้น มองเห็นได้อย่างชัดเจน อาจเกิดอาการบวม อักเสบ มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงมาก มีเลือดออกมาตลอด มีน้ำเหลือง มีเมือกลื่น และอุจจาระก็ยังตามออกมาอีกด้วยมีอาการเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา อาจเกิดอาการคันร่วมด้วย การติดเชื้อโรคเป็นไปได้ง่าย เมื่อเลือดออกมาเรื่อย ๆ จะเกิดอาการซีด มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลงจะเกิดอาการหน้ามืด

การรักษาโรคริดสีดวงทวาร

ในปัจจุบันการรักษาโรคริดสีดวงทวารนั้น สามารถรักษาได้หลายวิธีมาก แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ประกอบกับชนิดของโรคและระดับความรุนแรง

กรณีที่ไม่รุนแรง สามารถดูแลตนเองได้ แพทย์จะแนะนำวิธีในการดูแลตนเองควบคู่กับการใช้ยา เน้นการรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ดูแลบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารให้แห้งและสะอาด การแช่น้ำอุ่นบริเวณก้นเป็นประจำ นั่งแช่ในน้ำอุ่นจัด ๆ วันละ 2 – 3 ครั้ง ๆ ละ 15 – 30 นาที และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวารจนอาการบรรเทาปกติใช้เวลาประมาณ 7 – 10 วันควบคู่กับการทายาและการรับประทานยา ถ้าปวดมากเนื่องจากมีการอักเสบ ให้กินยาแก้ปวด เพื่อช่วยให้บรรเทาอาการปวด คัน หรือเจ็บบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารน้อยลง

ที่สำคัญที่สุดระวังอย่าให้ท้องผูก แนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ และกินผัก ผลไม้ ถ้ายังท้องผูกให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซีย ดีเกลือ อีแอลพี หรือสารเพิ่มกากใย ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายง่ายขึ้น

กรณีขั้นรุนแรง หากเป็นขั้นรุนแรงหรืออาการของโรคส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะมีการรักษาด้วยวิธี การฉีดยา เพื่อให้หลอดเลือดเกิดการตีบและหดตัวกลับเข้าไป อาจเกิดอาการปวดเล็กน้อยขณะฉีดยา การฉีดยาเข้าที่หัวให้ฝ่อไปนี้สะดวก มักจะฉีดสัปดาห์ละครั้ง ประมาณ 3 – 5 ครั้ง ช่วยให้หายขาดได้ร้อยละ 60

การใช้ยางรัด เพื่อตัดการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น ทำให้เกิดการฝ่อและแห้งของริดสีดวงทวารภายใน 1 สัปดาห์ 

การจี้ริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์ อินฟราเรด หรือเครื่องจี้ไฟฟ้า เป็นการใช้ความร้อนหรือเลเซอร์จี้ไปที่หัวริดสีดวงทวาร ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการรักษา 

การผ่าตัดเป็นวิธีใช้การรักษาโรคริดสีดวงทวารที่อยู่ในระยะรุนแรง ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้แล้ว โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ

1.การผ่าตัดเอาริดสีดวงออก โดยแพทย์จะผ่าส่วนที่เป็นริดสีดวงทวารออก เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ทำกันมาอย่างยาวนานที่ให้ผลการรักษาได้ดีและมีโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำน้อยมาก 

2.การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือเย็บติด เป็นการผ่าตัดสำหรับการรักษาริดสีดวงทวารชนิดภายใน โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือคล้ายเครื่องยิงลวดในการตัด เย็บ และผูกหัวริดสีดวง  ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นเลือดที่จะไปเลี้ยงบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารจนให้เกิดการฝ่อและหลุดไป 

เตรียมตัวก่อนการผ่าตัดริดสีดวงทวาร

1.ทำความสะอาด โดยการโกนขนบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง หัวหน่าว และรอบรูทวารหนัก

2.สวนล้างลำไส้เพื่อความสะอาดในคืนก่อนวันผ่าตัด

3.อาบน้ำ สระผม ตัดเล็บให้สั้นในคืนก่อนวันผ่าตัด

4.งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนในคืนก่อนวันผ่าตัด

5.พักผ่อนให้เต็มที่ในคืนก่อนวันผ่าตัดอาจจะได้รับยาเพื่อช่วยคลายความวิตกกังวลและได้พักผ่อน

6.ขณะทำการผ่าตัด จะไม่รู้สึกเจ็บปวด เพราะแพทย์จะใช้ยาระงับความรู้สึกช่วงท่อนล่างของร่างกายโดยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดริดสีดวงทวาร

1.หลังผ่าตัดใหม่ ๆ จะรู้สึกชาที่ขา ก้น และสะโพก เนื่องจากฤทธิ์ยาชายังตกค้างอยู่ ขยับตัวอย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

2.ท่านอนหลังผ่าตัด ควรนอนในท่าตะแคงข้างใดข้างหนึ่งเพื่อลดการกดทับและบรรเทาอาการปวดแผล 

3.การนั่งแช่ก้นในน้ำอุ่น เริ่มเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการผ่าตัด โดยใช้น้ำอุ่นใส่ในอ่างที่มีขนาดของปากอ่างพอดีกับก้นเพื่อป้องกันไม่ให้แผลผ่าตัดกดทับกับก้นอ่าง และแผลได้สัมผัสกับน้ำได้เต็มที่

4.หากมีอาการปวดเกิดขึ้นหลังผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์และพยาบาล เพื่อจะได้รับยาแก้ปวดและสังเกตอาการว่ามีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นอีกหรือไม่

การรักษาโรคริดสีดวงทวาร

การป้องกันโรคริดสีดวงทวาร

การลดความเสี่ยงในการเกิดโรคริดสีดวงทวาร คือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มความดันของหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร

1.เริ่มต้นด้วยการดูแลเรื่องระบบขับถ่ายให้เป็นนิสัย ฝึกเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา ขับถ่ายสม่ำเสมอ

2.ไม่กลั้นอุจจาระ เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบขับถ่ายที่ผิดปกติและถ่ายได้ยากมากขึ้น ก้อนอุจจาระแข็งขึ้น

3.ระวังอย่าให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเดิน หรือท้องเสียบ่อย ๆ เพราะอาจจะมีแรงเบ่งในท้องเกิดขึ้น

4.ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มมากขึ้น เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชประเภทต่างๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน 

5.อาจมีการรับประทานอาหารเสริมประเภทไฟเบอร์หรือสารที่ช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น

6.ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย

7.ถ้ามีน้ำหนักตัวมากควรหาวิธีลดความอ้วนอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก

8.ออกกำลังกายให้เพียงพอ พยายามเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

ริดสีดวง ไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่กวนใจเป็นที่สุด เมื่อเกิดขึ้นต้องรีบแก้ไขซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมมากมายมาช่วยแก้ไข ปรึกษาแพทย์และสามารถเลือกวิธีแก้ไขได้ทันที แต่จริง ๆ แล้วสามารถป้องกันถ้าใครไม่อยากทรมานกับการเป็นโรคริดสีดวงต้องปรับพฤติกรรม รับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว ออกกำลังกายเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และขับถ่ายให้เป็นนิสัยสม่ำเสมอ

Back To Top