ภูมิแพ้อาหาร หนึ่งในโรคภูมิแพ้ที่อันตรายมากกว่าที่คิด ภูมิแพ้อาหาร (Food allergy) เป็นปฏิกิริยาที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่ออาหารบางชนิดมากผิดปกติ ตั้งแต่ในระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง
ภาวะแพ้อาหาร หมายถึง อาการไม่พึงประสงค์ที่แสดงออกทางร่างกาย อันเกิดจากภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่ออาหารชนิดนั้นๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการซ้ำๆได้ หากได้รับอาหารที่แพ้ชนิดเดิม
อาหารที่แพ้ที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้ นมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเปลือกแข็งเช่น อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ วอลนัท พีแคน แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ เฮเซลนัท บราซิลนัท ปลา อาหารทะเลได้แก่ กุ้ง ปู หอย ปลาหมึก
อาการแสดงของการแพ้อาหาร
เมื่อมีภาวะแพ้อาหาร พบได้ในหลายระบบอวัยวะของร่างกาย ดังต่อไปนี้
1.อาการทางผิวหนังเป็นอาการที่พบได้มากและบ่อยที่สุด
เช่น ลมพิษฉับพลัน ตาบวม ปากบวม ผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ ผื่นแพ้จากการสัมผัส ชาหรือคันที่ปาก ใบหู ลำคอ
2.อาการทางระบบทางเดินอาหาร
เช่น กลืนอาหารลำบาก อาเจียน ท้องเสียเรื้อรัง อุจจาระมีเลือด เลือดออกในทางเดินอาหาร
3.อาการทางระบบทางเดินหายใจ
เช่น คัดจมูก น้ำมูกเรื้อรัง ไอ หายใจไม่สะดวก หอบ ถ้าเป็นมากจะหายใจไม่ออก อาจจะต้องนอนโรงพยาบาลได้
4.อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด
เช่น อาจจะมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ
ในกรณีแพ้อย่างรุนแรง (anaphylaxis) จะมีอาการแสดงหลายระบบพร้อม ๆ กันได้ ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที บางคนอาจจะมีอาการเฉียบพลันรุนแรง หรือเรื้อรัง แต่ส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เมื่อโตขึ้น แต่การหายจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน และขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่แพ้ด้วย อาทิเช่น ผู้ป่วยที่แพ้นมวัว มีโอกาสหายได้ถึง 70-90%
ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การที่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องว่ามีภาวะแพ้ต่ออาหารชนิดใดบ้างและทำการแก้ไขตรงตามสาเหตุ หลีกเลี่ยงอาหารได้อย่างเหมาะสม วินิจฉัยได้จากผลของการประเมินภูมิคุ้มกันต่ออาหาร(โดยการสะกิดผิว และ/หรือ การตรวจเลือด) เป็นระยะๆ และทดสอบการแพ้อาหารภายใต้การดูแลของแพทย์ จนกว่าผู้ป่วยจะหายแพ้ หรือมีอาการที่ดีขึ้น
การทดสอบอาการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge Test)
การทดสอบการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge Test) คือ ให้รับประทานอาหารที่สงสัยว่าทำให้เกิดอาการแพ้ เริ่มจากปริมาณน้อย ๆ และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณ เพื่อดูปฏิกิริยาการแพ้ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการยืนยันการวินิจฉัยโรคที่น่าเชื่อถือมากที่สุด แต่อาจจะเกิดปฏิกิริยาการแพ้รุนแรงได้ระหว่างที่ทำการทดสอบจึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง และต้องทำการทดสอบในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์ ยา และ
การแพ้อาหารอาจเกิดจากพันธุกรรมแต่กำเนิดหรือเพิ่งเกิดขึ้นตอนโตก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นการทดสอบการแพ้อาหารกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้มั่นใจก่อนเลือกรับประทานอาหารเข้าไปในร่างกายจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแพ้รุนแรง ไม่แนะนำให้ใช้ยาแก้แพ้ เพราะอาจทำให้ร่างกายแพ้รุนแรงกว่าเดิมได้ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะดีที่สุด
การเตรียมตัวและวิธีการทดสอบ
1.วันที่ทำการทดสอบเริ่มด้วยการซักประวัติ และสืบหาอาหารที่สงสัยว่าแพ้
2.ทำการทดสอบเบื้องต้นด้วยการสะกิดผิวหนังหรือตรวจเลือด specific IgE ต่ออาหารที่แพ้
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Tests)
1.ไม่มีอาการเจ็บป่วยอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบ
2.งดรับประทานยาแก้แพ้ 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วสามารถทราบผลได้ภายใน 15 – 20 นาที (ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงจะสามารถทดสอบได้หลังจากมีอาการ 1 เดือน)
การตรวจเลือด (Blood Test For Specific IgE) ไม่ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วสามารถทราบผลได้ภายใน 3 – 5 วันทำการ โดยมีทั้งผลเป็นบวกและลบ
– ผลเป็นบวก แพทย์อาจให้งดหรืออาจให้ทำทดสอบด้วยการรับประทานอาหาร (Oral Food Challenge) ตามความเหมาะสม (ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้อยู่ก่อนแล้วและต้องการรู้ว่าหายแพ้แล้วหรือไม่) และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
– ผลเป็นลบ อาจพิจารณาทำการทดสอบด้วยการรับประทานอาหาร (Oral Food Challenge)
3.เตรียมอาหารที่สงสัยว่าแพ้มาตามปริมาณที่แพทย์กำหนด จากนั้นทีมแพทย์จะจัดเตรียมอาหารเป็นสัดส่วนสำหรับทดสอบ
4.ผู้ปกครองเซ็นใบยินยอมการรักษา (consent form)
5.วัด vital sign ก่อนทำการทดสอบ เปิดเส้นเลือดสำหรับการให้ยาฉุกเฉิน
6.เตรียมยาฉุกเฉินสำหรับใช้ ในกรณีที่แพ้ ได้ แก่ Adrenaline (dose 0.01 ml/kg/dose maximum 0.3 ml ในเด็ก และ 0.5 ml ในผู้ใหญ่), Chlorpheniramine, 0.9%NaCl
7.เครื่องมือในการรักษาแบบครบเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์
8.เริ่มรับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ตามปริมาณที่กำหนด(ตาม protocol) จดบันทึกเวลาจากนั้นค่อย ๆ เพิ่มปริมาณทุก 15-30 นาทีจนครบตามที่แพทย์กำหนด ระหว่างการทดสอบจะต้อง วัดสัญญาณชีพและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
9.หลังรับประทานจนครบตามปริมาณที่แพทย์กำหนด หากไม่มีอาการ จะสังเกตอาการต่ออีก 1 ชั่วโมง หากไม่มีอาการใดๆ ให้ กลับบ้านและสังเกตอาการแพ้ ชนิดไม่เฉียบพลันที่บ้านต่อ3 วัน
10.Off heparin lock แนะนำผู้ป่วยสังเกตอาการแพ้ ต่อที่บ้าน และนัดดูอาการ 3 วัน
การรักษาอาการแพ้อาหาร
การรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุด คือการระบุให้ได้ว่าแพ้อาหารชนิดใด แล้วพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารชนิดนั้น แต่ ถึงแม้ว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงอย่างที่สุดแล้ว ก็ยังสามารถได้รับอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้โดยที่ไม่ทันรู้ตัว ต้องหมั่นสังเกตอาการของตัวเองร่วมด้วยเพราะบางครั้งอาหารที่แพ้อาจจะผสมมาในอาหารแบบไม่ทันสังเกต
โดยเมื่อสังเกตว่าเริ่มมีอาการแสดงว่าแพ้แต่มีอาการเล็กน้อย ก็สามารถรับประทานยาแก้แพ้ที่ซื้อใช้เองหรือสั่งจ่ายโดยแพทย์เพื่อบรรเทาอาการ โดยรับประทานยาแก้แพ้ภายหลังที่รับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ แต่
ในกรณีที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง จำเป็นต้องใช้ยาฉีดอิพิเนฟริน (Epinephrine) และอาจต้องเข้าพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล ในบางรายมักให้ยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ในรูปแบบปากกาฉีดอัตโนมัติหรือพร้อมฉีดได้เองซึ่งสั่งจ่ายโดยแพทย์ หากมีความจำเป็นต้องใช้ ควรปฏิบัติดังนี้
1.ควรทราบวิธีใช้อย่างชัดเจน และอธิบายให้บุคคลที่ใกล้ชิดทราบวิธีการใช้ เมื่อไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัยให้ซักทราบจนละเอียดเสียก่อน เพราะหากเกิดอาการที่รุนแรงขึ้นก็จะสามารถช่วยได้อย่างทันท่วงที
2.ควรพกติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน
3.ตรวจสอบวันหมดอายุของยาอย่างสม่ำเสมอ
จะเห็นได้ว่าอาการแพ้อาหารเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เสมอ พึงระวังและสังเกตตัวเองอยู่ตลอดว่าเมื่อรับประทานอาหารเข้าไปแล้วมีอาการผิดปกติหรือไม่ และเป็นอาหารชนิดใด อาการที่แพ้เป็นแบบไหน เพื่อจะได้ป้องกันและแก้ไขได้ทันท่วงทีและถูกต้องตรงจุด ไม่ให้เกิดอาการรุนแรง ยกเว้นมีอาการรุนแรงเฉียบพลัน ดังนั้นเมื่อรู้ว่าแพ้อะไรแนะนำให้แจ้งแก่บุคคลใกล้ชิดไว้ด้วยและเมื่อเข้ารับการรักษาไม่ว่ากรณีใดก็ตามให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ให้ทราบด้วยเพราะสารบางชนิดในอาหารเป็นส่วนประกอบของยาด้วยเช่นกัน