ฝังยาคุม คุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ออกฤทธิ์นาน

ฝังยาคุม คุมกำเนิด

ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่อำนวยให้ใช้รูปแบบชีวิตแบบครอบครัวเหมือนสมัยก่อน ที่ยิ่งมีลูกมากยิ่งดีจะได้มาช่วยกันทำงานหาเงิน จะเห็นได้ว่าครอบครัวในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นครอบครัวเดี่ยวเสียส่วนใหญ่ การมีบุตรก็ยืดเวลาออกไปนานขึ้น และยังควบคุมปริมาณอีกด้วยหรือที่เรียกกันว่าเน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ การคุมกำเนิดจึงเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการใช้ชีวิตคู่เป็นอย่างมาก 

การคุมกำเนิดมีทั้งแบบถาวร ได้แก่ การผ่าตัดทำหมัน และการคุมกำเนิดชั่วคราวซึ่งมีหลายวิธี เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังยังเป็นที่นิยมไม่มากนักแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

การฝังยาคุม

ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง (implantable contraceptive หรือ contraceptive implant) เป็นยาคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ออกฤทธิ์นาน (long-acting reversible contraceptive) เป็นเวลา 3-5 ปี ทำให้สะดวก ใช้ฝังใต้ผิวหนัง เป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (progestins) ซึ่งโพรเจสตินเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนในร่างกาย ตัวยาที่ใช้กันมาก คือ เลโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) และเอโทโนเจสเตรล (etonogestrel) ใช้ได้กับสตรีทุกรายไม่ว่าจะเคยมีบุตรมาแล้วหรือยังไม่เคยมีที่ประสงค์จะคุมกำเนิดเป็นเวลานานแต่ยังต้องการมีบุตรในอนาคต

มีลักษณะเป็นแท่งยาวขนาดเล็กยาวเท่าก้านไม้ขีด ใช้ฝังตื้นใต้ผิวหนังบริเวณด้านในของแขนท่อนบนข้างที่ไม่ถนัด ซึ่งจะปล่อยตัวยาสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง จำแนกตามจำนวนแท่งยาออกเป็น 3 แบบดังนี้

1.ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 6 แท่ง ลักษณะเป็นแคปซูลซิลิโคนขนาด 2.4 มิลลิเมตร x 34 มิลลิเมตร ใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปี เลิกใช้ทั่วโลกในปี ค.ศ. 2008

2.ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 2 แท่ง ลักษณะเป็นแท่งซิลิโคน ใช้คุมกำเนิดนาน 3-5 ปี ซึ่งขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์ การฝังแท่งยาและการเอาออกจะมีรอยแผลผ่าขนาดเล็ก

  1. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 1 แท่ง ลักษณะเป็นแท่งเอทิลีนไวนิลอะซีเตด (ethylene vinyl acetate copolymer) ที่บิดงอได้ พร้อมอุปกรณ์สำหรับการฝังแท่งยา ใช้คุมกำเนิดนาน 3 ปี มี การฝังทำคล้ายการฉีดยาโดยผ่านอุปกรณ์ ไม่ต้องมีรอยแผลผ่า แต่ตอนนำออกจะมีรอยแผลผ่าขนาดเล็ก

ห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

1.ตั้งครรภ์ (ผู้ที่มีความเสี่ยงจึงต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อน)

2.โรคมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะมีประวัติว่าเคยเป็นหรือกำลังเป็น และผู้ที่มีเนื้องอกชนิดที่ไวต่อโพรเจสเตอโรนหรือฮอร์โมนที่มีฤทธิ์คล้ายโพรเจสเตอโรน

3.โรคตับรุนแรงที่ยังตรวจพบความผิดปกติทางห้องปฏิบัติการ

4.โรคเนื้องอกตับหรือโรคมะเร็งตับ

5.มีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

6.มีการอักเสบของหลอดเลือดดำร่วมกับมีลิ่มเลือด หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด 

ห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ระยะเวลาการฝังแท่งยาคุมกำเนิด

สามารถทำได้ในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยมีรายละเอียดในข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันดังนี้

1.วันแรกของการมีประจำเดือนหรือภายใน 5 วันนับจากวันเริ่มมีประจำเดือน การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น  และถ้าไม่ได้ตั้งครรภ์และผ่านการตรวจการตั้งครรภ์แล้ว หลังการฝังยาให้งดการมีเพศสัมพันธ์หรือให้คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วัน

2.ภายใน 5 วันหลังการแท้งบุตร ไม่ว่าจะมีอายุครรภ์เท่าใด การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น

3.ภายใน 21 วันหลังการคลอด ในผู้ที่ไม่ได้ให้นมบุตร การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น

4.หลังคลอดยังไม่ถึง 6 เดือน ไม่มีประจำเดือนมาเลยและให้นมบุตรสม่ำเสมอตลอดมา การฝังยาคุมกำเนิดในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น 

5.หลังจากวันที่รับประทานยาคุมกำเนิดเม็ดสุดท้ายที่เป็นตัวยา หรืออย่างช้าวันถัดจากวันที่รับประทานเม็ดแป้งเม็ดสุดท้าย การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น

6.วันที่นำวงแหวนคุมกำเนิดชนิดสอดช่องคลอด แผ่นแปะคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัยคุมกำเนิดออก การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น

7.วันที่ถึงกำหนดนัดฉีดยาคุมกำเนิด แต่ต้องการเปลี่ยนมาใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น

การออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ตัวยาจะปล่อยจากแท่งยาอย่างต่อเนื่องจะออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการป้องกันการตั้งครรภ์ และยังออกฤทธิ์ลดปริมาณมูกปากมดลูกทำให้มูกปากมดลูกข้นหนืดจึงขัดขวางการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ ลดการโบกพัดของขนอ่อนในท่อนำไข่ ลดขนาดและลดจำนวนต่อมซึ่งทำหน้าที่สร้างสารคัดหลั่งที่เยื่อบุมดลูก ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์จะออกฤทธิ์จนถึงวันที่เอาแท่งยาออกภายในกำหนดเวลา เมื่อนำแท่งยาออกรังไข่จะกลับมาทำงานได้ตามปกติเกือบทันที

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังนี้ใช้ได้ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ การฝังแท่งใหม่จะฝังแทนที่แท่งเก่าโดยใช้รอยเปิดเดิม ในกรณีที่ไม่สามารถฝังตรงตำแหน่งเดิมได้อาจฝังที่แขนอีกข้างหนึ่ง การฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่ตรงตามกำหนดเวลาไม่ต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นเสริม

ในกรณีที่ฝังแท่งใหม่ล่าช้า ช่วงที่ล่าช้านั้นแนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น เช่น การใช้ถุงยางอนามัย และเมื่อฝังแท่งใหม่แล้วช่วง 7 วันแรกแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัย 

การนำแท่งยาคุมกำเนิดออก

การนำแท่งยาออกต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ ซึ่งสามารถนำออกได้ในกรณี ดังต่อไปนี้

1.ต้องการยุติการคุมกำเนิดหรือเปลี่ยนไปใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น 

2.เมื่อครบกำหนดเวลาในการคุมกำเนิด และฝังแท่งใหม่ทดแทนในกรณีที่ประสงค์จะใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังต่อไปอีก 

3.แท่งยาคุมชำรุด การหักของแท่งยาซึ่งเกิดได้ยากโดยเฉพาะชนิดที่มีตัวยาเอโทโนเจสเตรลซึ่งแท่งยาบิดงอได้ 

4.เมื่อเกิดผลไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่น เกิดโรคหัวใจขาดเลือด หรือสมองขาดเลือด หลังการฝังยา การเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำ  ความดันโลหิตสูงจนควบคุมไม่ได้ โรคดีซ่านหรือภาวะเหลือง โรคไมเกรน ภาวะซึมเศร้าอย่างชัดเจน

5.แท่งยาคุมกำเนิดเคลื่อนที่จนคลำไม่ได้ ให้เปลี่ยนแท่งใหม่และฝังที่ใหม่ เนื่องจากแท่งยาที่เปลี่ยนตำแหน่งไปทำให้ตัวยาปล่อยสู่กระแสเลือดมากขึ้นจนอาจเหลือยาไม่เพียงพอที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ 

นำแท่งยาคุมกำเนิดออก

ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

การฝังแท่งยาตื้นเกินไปอาจทำให้รู้สึกเจ็บ รบกวนการรับความรู้สึกที่ผิวหนัง และเกิดผิวหนังอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ ส่วนการฝังแท่งยาใต้ผิวหนังลึกจะเสี่ยงต่อการเคลื่อนที่ของแท่งยาไปตำแหน่งอื่น ทำให้ตัวยาปล่อยสู่กระแสเลือดมากขึ้น อาจจะมีเลือดประจำเดือนมาผิดปกติโดยเฉพาะช่วงแรก แต่ต่อมาประจำเดือนจะค่อย ๆ น้อยลงและจะหายไปโดยไม่มีอีกเลยตลอดช่วงที่ฝังยา  แต่บางรายอาจมีประจำเดือนมาบ่อยและมานานขึ้น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เจ็บคัดเต้านม คลื่นไส้ ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า ช่องคลอดอักเสบและแห้ง เกิดฝ้า สิว สะสมน้ำจนอาจเกิดบวมน้ำ น้ำหนักตัวเพิ่ม ผมอาจบางลง ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหัก 

ข้อควรคำนึงเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ข้อควรคำนึงบางประการสำหรับผู้ที่ได้รับการฝังยาคุมกำเนิดมีดังนี้

1.ควรเข้าใจถึงข้อดีและข้อเสียของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง ศึกษาหาข้อมูลและปรึกษาแพทย์

2.ไม่ได้ตั้งครรภ์ กรณีที่ไม่มั่นใจต้องตรวจการตั้งครรภ์

3.เมื่อเกิดผลข้างเคียง ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อปรึกษาหาทางแก้ไข

3.ยาคุมกำเนิดชนิดฝังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ 

4.ยาคุมกำเนิดชนิดฝังช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ตามกำหนดเวลาที่ฝังยา สามารถเอาออกก่อนกำหนดได้หากต้องการยุติการคุมกำเนิด 

5.เมื่อฝังแท่งยาคุมกำเนิดแล้วต้องสามารถคลำพบได้ หากคลำไม่พบแสดงว่าแท่งยาเกิดการเคลื่อนที่ 

6.การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อยแต่กลับสู่ปกติได้เมื่อหยุดใช้ ควรรับประทานแคลเซียมเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

จะเห็นได้ว่าการคุมกำเนิดชนิดฝังเหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดป็นเวลานานแต่ยังต้องการมีบุตร ขี้ลืมเพราะไม่ต้องรับประทานทุกวัน ไม่ค่อยพะวงว่าครบกำหนดฉีดวันไหน ซึ่งถ้าเกิดการคลาดเคลื่อนก็จะเสี่ยงที่จะเกิดการตั้งครรภ์ได้ พร้อมทั้งสังเกตได้ง่ายเพราะฝังแบบตื้นได้ผิวหนัง และที่สำคัญสามารถนำออกได้ตลอดเมื่อนำออกแล้วรังไข่ก็กลับมาทำหน้าที่ได้เกือบทันที ทำให้มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ 

Back To Top